posttoday

"ณัฏฐพล"ชูแผนพัฒนาการศึกษา"ภูเก็ตโมเดล"

24 พฤศจิกายน 2563

รมว.ศึกษาธิการลงพื้นที่ภูเก็ตหารือผู้ว่าฯ เตรียมแผนงานยกระดับคุณภาพการศึกษาคาดใช้เวลาไม่เกิน3ปี เป็นตัวอย่างทุกจังหวัดทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงศีกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ร่วมหารือกับนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการฯในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งข้าราชการศึกษาธิการจังหวัด ข้าราชการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดภูเก็ต ตามแผนการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ จ.ภูเก็ต เป็นโมเดลตัวอย่างเพื่อดำเนินแผนงานในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

นายณัฏฐพล กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเกิดจากระบบการศึกษาเป็นหลัก ดังนั้นทางกระทรวงศึกษาธิการ? จึงมีแผนที่จะยกระดับรายได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศด้วยการยกระดับการศึกษา ซึ่งหลังจากวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยได้รับการยอมรับในคุณภาพของระบบสาธารณสุขในอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก

ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้มีการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมของแรงงาน เพื่อสร้างศักยภาพของประเทศ แลปีะการพัฒนาการศึกษาในแต่ละจังหวัดจะต้องคำนึงถึงบริบทของแต่ละจังหวัดด้วย

“ผมได้ลงไปดูทุกโรงเรียนใน จ.ภูเก็ตเรียบร้อยแล้ว และเหตุผลที่ผมเลือก จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดตัวอย่างก็เพราะว่ามีโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด สพฐ มีจำนวนไม่มาก ขนาดของจังหวัดที่ไม่ใหญ่ และเอกชนในพื้นที่มีความเข้มแข็ง โดยที่แผนในการพัฒนาการศึกษา ต้องมีความเชื่อมต่อกันทั้งระบบ รวมทั้งการพัฒนาเด็กๆ ก็ต้องตอบโจทย์ของจังหวัด อย่างภูเก็ตที่มีจุดเด่นเรื่องของงานท่องเที่ยวและบริการ เรื่องของภาษาจึงมีความจำเป็น โดยการหารือวันนี้ก็เพื่อที่จะให้ทุกภาคส่วนได้มองเห็นถึงแผนงานและนโยบายที่เป็นภาพใหญ่ภาพเดียวกัน ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าพวกเราร่วมมือร่วมใจกันก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาได้”

ด้าน นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวแสดงความยินดีที่กระทรวงศึกษาธิการเล็งเห็นความสำคัญของจังหวัดภูเก็ตโดยเฉพาะการศึกษา เพื่อสร้างต้นแบบการยกระดับคุณภาพการศึกษา

ทั้งนี้ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก มีปัญหาคนยากจนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะคนจนในเมือง เพราะว่ารายได้ของคนในจังหวัดส่วนใหญ่คือการท่องเที่ยวและงานบริการ ซึ่งการแก้ปัญหาให้ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องวางมาตรฐานการศึกษาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และรองรับโอกาสในอนาคต

การประชุมครั้งนี้ นายณัฏฐพล ยังได้นำเสนอโมเดลการบริหารจัดการศึกษาในบางเขตพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในที่ประชุม โดยยืนยันว่า สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากจังหวัด เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความเข้าใจถึงปัญหาในชุมชนได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญเป็นผู้วางแผนแม่บท และแนวทางการพัฒนาจังหวัด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการต้องนำมาเป็นบริบทประกอบในการวางแผนการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา