posttoday

นักดาราศาสตร์ชวนชม"พระจันทร์ยิ้มหน้าบิดเบี้ยว!"

19 พฤศจิกายน 2563

คืนนี้! นักดาราศาสตร์ชวนชมดาวเคราะห์ชุมนุม เห็นเป็น"พระจันทร์ยิ้ม" แต่หน้าบิดเบี้ยว

เมื่อวันที่ 19 พ.ย.63อนายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิตย์ ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ไทยและที่ปรึกษาหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ช่วงค่ำคืนวันนี้ 19 พ.ย. 63 จะเกิดปรากฏการณ์ “ดาวเคียงเดือน” กล่าวคือ ดาวพฤหัสบดีปรากฏเคียงดวงจันทร์ ใกล้กันมากที่สุด 3 องศา ตั้งแต่เวลา 18.40 น. นอกจากนี้ ยังมีดาวเสาร์ปรากฏเคียงดวงจันทร์เช่นกัน ห่าง 4.2 องศา และ ในขณะเดียวกันดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดี ปรากฏบนท้องฟ้าห่างกัน 3.2 องศา เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ดาวเคราะห์ชุมนุม”

สังเกตได้หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นต้นไป ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) จนถึงเวลาประมาณ 21.00 น.

ดาวเคราะห์ชุมนุม หมายถึง ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุม 1-5 องศา (การวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า ชูนิ้วก้อยเหยียดแขนให้สุดขึ้นบนท้องฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย) ซึ่งปรากฏการณ์ “ดาวเคียงเดือน” และ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อย ๆ ตามแนวสุริยะวิถี

ดังนั้น การที่ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏดาวเคียงเดือนครั้งนี้ จะเรียงกันคล้ายคลึงพระจันทร์ยิ้มที่เคยปรากฏเมื่อปี 2551 แต่ใบหน้าจะค่อนข้างจะบิดเบี้ยวไปนิด

นักดาราศาสตร์ชวนชม"พระจันทร์ยิ้มหน้าบิดเบี้ยว!"

นักดาราศาสตร์ชวนชม"พระจันทร์ยิ้มหน้าบิดเบี้ยว!"