posttoday

ประชาชนหนุนตั้ง“นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์”ช่วยผู้ต้องขังไม่ทำผิดซ้ำ

30 กันยายน 2563

"นิด้าโพล" เผยประชาชนหนุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ สร้างโรงงานพื้นที่ปิด ชี้การฝึกวิชาชีพช่วยให้ผู้ต้องขังไม่ให้กระทำผิดน้อยลงหรือไม่กระทำผิดซ้ำได้

สำนักงานกิจการยุติธรรม ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” โดยเริ่มทำการสำรวจ ในเดือนกันยายน 2563 จากประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,269 หน่วยตัวอย่าง สอบถามเกี่ยวกับการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” เพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ อีกทั้ง เพื่อเป็นการฝึกทักษะอาชีพ พัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน ตลอดจนเป็นการสร้างผู้พ้นโทษให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ และเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพในอนาคต ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราการกระทำผิดซ้ำลดลง และคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.89 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 32.86 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 4.02 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 2.99 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 0.24 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามถึงลักษณะของกิจกรรมฝึกวิชาชีพในนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.93 ระบุว่า งานประกอบเครื่องยนต์ รองลงมา ร้อยละ 54.22 ระบุว่า เกษตรกรรม ร้อยละ 53.43 ระบุว่า งานผลิตเฟอร์นิเจอร์/งานไม้ ร้อยละ 40.90 ระบุว่า งานเสริมสวย/ตัดแต่งทรงผม และร้อยละ 39.95 ระบุว่า งานประดิษฐ์/ตัดเย็บเสื้อผ้า

เมื่อถามถึงลักษณะรูปแบบการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.05 ระบุว่า การตั้งเป็นโรงงานในพื้นที่ปิด (มีข้อจำกัดในการเข้า-ออกพื้นที่) ร้อยละ 43.58 ระบุว่า ควรเป็นโรงงานพื้นที่เปิดเหมือนนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป ร้อยละ 2.05 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และร้อยละ 0.32 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรม

เมื่อถามถึงแนวคิดการมี “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” จะช่วยให้คนที่เคยกระทำผิด ทำผิดน้อยลงหรือไม่กระทำผิดซ้ำได้หรือไม่ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.44 ระบุว่า ช่วยให้คนทำผิดลดลง/ไม่กระทำผิดซ้ำได้ ร้อยละ 15.84 ระบุว่า ไม่แน่ใจ ร้อยละ 10.24 ระบุว่า ไม่สามารถช่วยลดการกระทำผิดซ้ำได้ ร้อยละ 0.32 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และร้อยละ 0.16 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล