posttoday

พช.ขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

29 กันยายน 2563

"พช.-อพ.สธ."จับมือขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เพื่อน้อมนำพระราชดำริไปสู่การปฏิบัติ รักษาภูมิปัญญาและอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

เมื่อวันที่ 29 กันยาน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.)กระทรวงมหาดไทย และ นายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ร่วมประชุมกับคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กรมการพัฒนาชุมชน โดยมี นายกองตรีธงชัย สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ที่ปรึกษาโครงการ อพ.สธ. นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการคณะกรรมการโครงการ อพ.สธ. และคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ เข้าร่วมประชุม ณ กรมการพัฒนาชุมชน

ทั้งนี้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ได้ดำเนินมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2535 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดกิจกรรมร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ นำผลประโยชน์มาถึงประชาชนชาวไทย ตลอดจนให้มีการจัดทำระบบข้อมูลพันธุกรรมพืชให้แพร่หลายสามารถสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ ภายใต้ 3 ฐานทรัพยากร ได้แก่ ทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรกายภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ใน 3 กรอบการดำเนินงาน คือ กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร กรอบการใช้ประโยชน์ และกรอบการสร้างจิตสำนึก และในเดือนมิถุนายน 2560 กรมการพัฒนาชุมชนได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้เข้าร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)

พช.ขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ เป็นการรายงานผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา และประสานการจัดทำแผนงานและการดำเนินโครงการ เพื่อพิจารณาร่างแผนแม่บทโครงการนอุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กรมการพัฒนาชุมชน ปี 2565-2569 ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทโครงการฯ ระยะ 5 ปีที่เจ็ด (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2569) และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

นายพรชัย จุฑามาศ รอง ผอ.โครงการ อพ.สธ. กล่าวว่า ดีใจที่กรมการพัฒนาชุมชน ทำงานที่สอดคล้องกัน เมื่อปี 2561 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งมาว่า "ให้ดำเนินการไปสู่งานปกติของทุกหน่วยงาน" นั่นคือให้เอางานที่ทำอยู่แล้วเป็นงานสนองพระราชดำริได้ งานของ อพ.สธ. เป็นงานที่สืบทอดงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ในการรักษาฐานทรัพยากรของประเทศ ที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง นั่นคือการพึ่งตนเองได้ ซึ่งต้องมีทรัพยากรที่เป็นกายภาพ ดิน น้ำ พลังงาน ชีวภาพคือ พืช สัตว์ จุลินทรีย์ และเรื่องของวัฒนธรรมภูมิปัญญา วิถีชีวิตของเรา ขนมธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นเรื่องของภูมิสังคม การอนุรักษ์ทรัพยากรนั้น ไม่เฉพาะทรัพยากรกายภาพและทรัพยากรชีวภาพเท่านั้น ทรัพยากรทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ก็เป็นสมบัติที่ต้องรัก เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ให้เกิดประโยชน์ได้ ในแผนปฏิรูปประเทศในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีศูนย์อนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรท้องถิ่นตำบลทุกตำบลทั่วประเทศ นั่นคือ มีศูนย์ข้อมูลอยู่ที่ตำบล เพราะท้องถิ่นก็เหมือนประเทศเล็ก ๆ ประเทศหนึ่งที่สามารถบริหารตัวเองได้ เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย อพ.สธ.จะช่วยในเรื่องวิชาการให้ มหาดไทย 4.0 จะต้องมีฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น ทั้งจากแผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาจังหวัด รวมทั้งฐานข้อมูล OTOP จากกรมการพัฒนาชุมชน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวในการประชุมว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยในรอบปีที่ผ่านมาได้น้อมนำแนวพระราชดำริโครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง มาขับเคลื่อนช่วงโควิดเป็นแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และขับเคลื่อนระยะที่ 2 ทำอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างวัฒนธรรมการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งในโครงการนี้มีตัวชี้วัดที่เป็นเลเยอร์ส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ เพราะมี KPI ในโครงการว่า แต่ละหมู่บ้านต้องปลูกอย่างน้อย 10-20 ชนิด และเป็นชุมชนเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันด้วยการจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช อยู่ในความตั้งใจที่นำเรื่องการสร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักสวนครัวที่ตั้งเป้าไว้ที่ 12 ล้านครัวเรือน ให้เป็นหนึ่งในใต้ร่มของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช

พช.ขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

นอกจากนั้น เรื่องที่สอง กรมการพัฒนาชุมชนได้น้องนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เรื่องทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อของบเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจ ดำเนินการในพื้นที่ 25,179 ครัวเรือน และงบปี 2563 ได่ดำเนินการไปแล้ว 1,500 ครัวเรือน รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน อีก 11 ศูนย์ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ โดยครัวเรือนเหล่านี้และศูนย์ทั้ง 11 ศูนย์ จะกลายเป็นผู้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เพื่อจะได้รวบรวมต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายจ่ายแจกให้ประชาชน เรื่องที่สาม คือ ในโอกาสที่กรมการพัฒนาชุมชนครบรอบ 60 ปี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 กรมฯ จะพัฒนาปรับปรุงศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชของกรมการพัฒนาชุมชนให้มีความสมบูรณ์ เข้มแข็ง และยั่งยืน เป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างสมบูรณ์แบบเพิ่มมากขึ้น เรามีเป้าใหญ่ที่ว่า ครบ 60 ปี กรมการพัฒนาชุมชน ทุกตำบลจะให้มีศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช และพยายามกระจายไปให้ครบทุกหมู่บ้าน โดยการทำอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นพลังสร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทุกหมู่บ้านจะมีธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช สร้างสังคมแห่งการเกื้อกูล พึ่งพาตนเองได้

“ขอให้คณะกรรมการโครงการฯ ได้ปรับปรุงร่างแผนแม่บทตามคำแนะนำและข้อเสนอของ รองผู้อำนวยการโครงการฯ อพ.สธ. และให้ไปพิจารณางานที่เกื้อกูลกันกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ที่สำคัญคือ โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ช่วยทำให้ชัดเจนในเรื่องการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชด้วย และการบูรณาการภาคีเครือข่ายก็เป็นเรื่องใหญ่ เช่น ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ให้ MOU กับโรงเรียนในพื้นที่เพื่อศึกษาและจัดให้มีกิจกรรมในศูนย์ฯ หรือจับคู่กับท้องถิ่นทำงานร่วมกัน อยากเห็นทุกศูนย์ฯ มีธนาคารเมล็ดพันธุ์และกล้าไม้ที่เก็บโดยคนของเราที่อยู่ในตำบลหมู่บ้าน สมาชิกภาคีเครือข่ายของเรา ช่วยกันรวบรวมให้มีสายพันธุ์เยอะ ๆ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นความสำคัญว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นมรดก เป็นทรัพย์สินของคนไทย เรื่องนี้เป็นความมั่นคงของชาติ เป็นหมุดที่ปักลงในแผนที่โลกว่าเรามีพันธุกรรมพืชอะไรอยู่ในแผ่นดินไทย ขอให้พวกเราช่วยกันทำให้เต็มที่ ทำหน้าที่ของเราให้ดี น้อมนำพระราชดำรัสใส่เกล้าใส่กระหม่อมเพื่อทำให้พระราชประสงค์ของพระองค์ท่านซึ่งมีนัยยะส่งถึงความสุขของชาวบ้านให้เป็นเป็นจริง” นายสุทธิพงษ์ กล่าวท้าย