posttoday

วงเสวนาวิชาการชี้ “เทคโนโลยี-นวัตกรรม”เป็นจุดชี้ขาดแห่งยุคสมัย

23 กันยายน 2563

มธ.ผนึกSIITจัดเสวนา “SIIT ธรรมศาสตร์ ให้ 80 ทุน ผลิตคนนวัตกรรม ตอบโจทย์อนาคต” เห็นพ้อง “เทคโนโลยี-นวัตกรรม” เป็นจุดชี้ขาดแห่งยุคสมัย 

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนาหัวข้อ SIIT ธรรมศาสตร์ ให้ 80 ทุน “ผลิตคนนวัตกรรม ตอบโจทย์อนาคต” โดยสาระสำคัญของการพูดคุยได้บอกเล่าถึงความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเป็นตัวชี้ขาดความอยู่รอดในอนาคต

ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มธ. และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการศึกษา ปี 2563 เปิดเผยว่า นวัตกรรมหรืองานวิจัยไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัว หากแต่อยู่ในทุกๆ สิ่งรอบตัวเรา เช่น กว่าจะมาเป็นสมาร์ทโฟน 1 เครื่อง ต้องมีนวัตกรรมและงานวิจัยหลายชิ้นประกอบกัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจทุกวันนี้ก็ชี้ขาดกันที่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแทบทั้งสิ้น ดังนั้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของคนยุคใหม่ ซึ่งทิศทางของ มธ.จะให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และล่าสุดกำลังอยู่ระหว่างก่อตั้งศูนย์ AI ระดับประเทศขึ้นมาด้วย

วงเสวนาวิชาการชี้ “เทคโนโลยี-นวัตกรรม”เป็นจุดชี้ขาดแห่งยุคสมัย

ด้าน นายภัทรพร โพธิ์สุวรรณ CEO บริษัท อีเว้นท์ ป็อป จำกัด และนายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ ในฐานะศิษย์เก่า SIIT กล่าวว่า สตาร์ทอัพในปัจจุบันเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หากไม่มีความแตกต่างก็จะต้องเข้าสู่ Red ocean ที่มีการแข่งขันสูงมาก สุดท้ายหนีไม่พ้นที่จะต้องแข่งขันกันด้วยราคา ฉะนั้นทางรอดคือการทำสิ่งเดิมให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุน

ขณะที่ นายภัทรพร กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานกับคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะพบว่าคนในยุคนี้มีความสามารถสูง เข้าใจและรู้จักใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างดี มีความคิดสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับ workforce ในอนาคต ดังนั้นคนในยุคนี้จึงไม่มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ หากแต่วัดกันที่ประสบการณ์และการสร้างนวัตกรรม

“สำหรับคนที่อยากเริ่มทำธุรกิจ อยากให้เริ่มที่งานวิจัยและนวัตกรรมก่อนเป็นลำดับแรก ต้องทราบว่าความต้องการคืออะไร วิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์อย่างไรได้บ้าง เช่น บริษัท อีเว้นท์ ป็อป ก็เกิดขึ้นจากการเห็นว่างานอีเว้นท์ต่างๆ ล้วนแต่อยู่ในรูปแบบกระดาษเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋ว การเข้างาน จึงได้นำนวัตกรรมเข้ามาช่วยให้เกิดความสะดวกขึ้น ลดต้นทุน ลดการใช้วัตถุดิบได้” นายภัทรพร กล่าว

นายคณิน อนันรยา ผู้บริหารบริษัท เดอะ ซัมเมอร์ เฮ้าส์ จำกัด และศิษย์เก่า SIIT กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เป็นหนึ่งในศิษย์เก่าและกรรมการสอบสัมภาษณ์เด็กเอเชีย เพื่อเข้าศึกษาต่อในสาขานวัตกรรมที่ Brown University ทำให้ได้เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่นั้นโตไว เรียนรู้เร็ว และรู้จักตัวเองมากขึ้น โดยเด็กที่มาสัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะรู้ว่าตัวเองชอบและต้องการอะไรแทบทั้งสิ้น

นายคณิน กล่าวว่า คนที่ทำนวัตกรรมจริงๆ ควรประกอบด้วย 2 ภาคสำคัญ นั่นคือ Technical Skill และ Commercial Skill ด้วย เพราะหากมีทักษะเฉพาะด้านแต่ไม่รู้ว่าตลาดอยู่ตรงไหน หรือขายไม่เป็น ก็คงยากที่จะประสบผลสำเร็จทางธุรกิจ ดังนั้นการเรียนในระดับอุดมศึกษาก็ควรจะได้รับทักษะเหล่านี้ด้วย ส่วนตัวเป็นศิษย์เก่า SIIT จึงได้ติดอาวุธเรื่องนี้ตั้งแต่มหาวิทยาลัย

“อย่างธุรกิจกาแฟที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เป็นธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มซึ่งมีคนทำอยู่มาก แต่เราได้นำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การเก็บข้อมูล การประมวลผล มาปรับใช้ในธุรกิจตั้งแต่การออกแบบ การคั่วกาแฟ การควบคุมอุณหภูมิ ฯลฯ จนกาแฟมีความอร่อยและคงที่ในทุกๆ แก้ว เหล่านี้สะท้อนว่าทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานเพียงใด นวัตกรรมก็มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น” นายคณิน กล่าว

สำหรับ นายสุรนาม พานิชการ กรรมการผู้จัดการบริษัท โทฟุซัง จำกัด และศิษย์เก่า SIIT กล่าวว่า โทฟุซังเกิดขึ้นจากการตั้งคำถามว่าเหตุใดน้ำเต้าหู้จึงมีขายเฉพาะในบางช่วงเวลาเท่านั้น ซึ่งเมื่อมองเรื่องนี้ผ่านสายตาของคนที่เรียนจบวิศวะฯ ก็ทำให้เริ่มต้นหาคำตอบ หาคำอธิบาย จนพบว่าแม้แต่การแช่ถั่วเหลืองในน้ำด้วยเวลาที่แตกต่างกันก็ทำให้เอนไซม์แตกต่างกัน และนำไปสู่ผลที่แตกต่างกัน ที่สุดแล้วจึงได้เป็นน้ำเต้าหู้ที่ออร์แกนิค ไม่ต้องผสมสารกันบูด แต่สามารถเก็บได้และดื่มได้ทุกเวลา

“ผมคิดว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยทำให้เราคิดเป็นกระบวนการ มองเห็นปัญหา และมองเห็นหนทางในการแก้ไขปัญหาในหลากหลายวิธี นั่นทำให้เราสามารถเลือกแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดได้ ซึ่งความรู้ที่ได้จาก SIIT ช่วยเป็นฐานให้เราต่อยอดทางธุรกิจได้” นายสุรนามกล่าว

ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในฐานะที่ สวทช. เป็นหน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็มีโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างคนสร้างนวัตกรรมที่ชัดเจน เพื่อสร้างโอกาสให้กับคนยุคใหม่ ที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกับ SIIT มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนางานวิจัย การพัฒนากำลังคน ผลิตบุคลากร ผ่านการให้ทุนและหลักสูตรมากมายตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอก

“สวทช. มีหน่วยงานและกองทุนที่จะสนับสนุนการจัดทำสตาร์ทอัพ โดยมีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือด้านเทคนิค ข้อมูล และเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ที่สนใจ ขณะเดียวกันยังมีสถานสำหรับเริ่มต้นตั้งบริษัทสตาร์ทอัพในราคาไม่แพง และยังมีกองทุนให้นักวิจัย spin off ออกมาจัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ด้วย” ดร.อ้อมใจ กล่าว

ศ.ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) กล่าวว่า ปัจจุบันวิทยาการโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว นั่นทำให้ความต้องการแรงงานเปลี่ยนแปลงไปด้วย เราจะเห็นว่าความรู้มีวันหมดอายุ ฉะนั้นจึงไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่เน้นเฉพาะความรู้เป็นหลักเหมือนในอดีตได้อีกต่อไป เป้าหมายของการเรียนการสอนในยุคสมัยใหม่จึงอยู่ที่การสร้างคนที่สามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ในอนาคต การสร้างนักนวัตกรรมที่ต้องมีความรู้พื้นฐานที่ดี มีความสามารถในการแก้ไขปัญหา และความคิดสร้างสรรค์

ศ.ดร.พฤทธา กล่าวต่อไปว่า นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วยความรู้ ความสามารถในการแก้ไขปัญหา และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวไปสู่จุดนี้ โดยความรู้สามารถเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดและเทคโนโลยีขั้นสูง ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเกิดจากประสบการณ์และการปฏิบัติ ส่วนความสร้างสรรค์เกิดจากประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาและการแลกเปลี่ยนความคิด ซึ่ง SIIT ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นสำคัญ

“เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดคนนวัตกรรมและเปิดโอกาสให้นักศึกษามีพื้นฐานที่จะนำไปสู่การต่อยอดในอาชีพที่หลากหลาย SIIT จึงได้จัดโครงการสอบชิงทุนสำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเลิศ (OSP) ขึ้น โดยในปีการศึกษา 2564 มีมากถึง 80 ทุน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเปิดรับสมัคร ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลและสมัครได้ที่ www.siit.tu.ac.th” ศ.ดร.พฤทธา กล่าว