posttoday

ปี63พบป่วยโรคชิคุนกุนยากว่า 3.2พันราย สธ.แนะกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

06 กรกฎาคม 2563

กรมควบคุมโรคเผยปี63 พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาแล้วกว่า 3.2 พันราย ชี้มีโอกาสพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน แนะกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา ในปี 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 3,258 ราย จาก 56 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 25-34 ปี (18.17%) 35-44 ปี (17.46%) และ 45-54 ปี (16.02%) ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ จันทบุรี อุทัยธานี ลำพูน ระยอง ตราด ตามลำดับ โดยจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีการรายงานผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ และลำปาง

โดยการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มขึ้น จากการที่มีฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันการพบผู้ป่วยโรคนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ภาคใต้ สามารถพบผู้ป่วยในภาคอื่นๆ ได้เช่นกัน

โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดต่อนำโดยแมลง ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง ปวดข้อ ข้อบวมหรือข้ออักเสบร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นหรืออ่อนเพลีย การป้องกันการแพร่กระจายของโรคที่ดีที่สุด คือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา นอกจากนี้ ควรป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดด้วยการทายากันยุงและกำจัดยุงในบ้าน

อธิบดีกรมควบคุมโรค แนะนำว่า สถานพยาบาลที่แม้ไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรมีการเฝ้าระวังโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เนื่องจากยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคสามารถพบได้ทุกจังหวัด โดยการคัดกรองผู้ป่วยที่มาด้วยอาการไข้ ปวดข้อ มีผื่น หรือมีอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่เกล็ดเลือดอยู่ในระดับปกติ และเมื่อพบผู้ที่มีอาการสงสัย ให้รีบแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อดำเนินการควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว สำหรับประชาชนให้ช่วยกันร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายและป้องกันไม่ให้ถูกกัด หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422