posttoday

คนไทยใช้แพลตฟอร์มไทยชนะเช็คอิน-เช็คเอาท์แล้วกว่า 47 ล้านครั้ง

25 พฤษภาคม 2563

กระทรวงดิจิทัลฯเผย คนไทยตอบรับแพลตฟอร์มไทยชนะเป็นอย่างดี เผยยอดเช็คอิน-เช็คเอาท์แล้วกว่า 47 ล้านครั้ง พร้อมพัฒนาให้รองรับภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆเพิ่ม

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 63 นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ทีมงานต้องขอโทษประชาชนที่ทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นเล็กน้อยในการใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะ โดยในช่วงผ่อนปรนระยะที่ 2 มีคนใช้ 11,757,624 ล้านคน และมีร้านค้าลงทะเบียน 106,235 ร้าน หลังเปิดใช้งานมา 8 วัน มีผู้เช็คอิน-เช็คเอ้าท์แล้วกว่า 47 ล้านครั้ง และตอบแบบสอบถาม 11 ล้านครั้ง ถือว่าคนไทยให้การตอบรับเป็นอย่างดี

"ถ้าเทียบกับต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศอินเดีย ที่มีแพลตฟอร์มคล้ายกันมีการใช้งาน 10 ล้านคน แต่เขามีประชากร 1,800 ล้านคน นอกจากนี้ต้องขอขอบคุณร้านค้า กิจการ ที่คิวอาร์โค้ดบริเวณทางเข้า-ออกและจัดให้มีคนดูแล แต่อยากให้มีการติดกระจายออกไปเพื่อให้เกิดการเว้นระยะห่าง"ผู้ตรวจราชการกระทรวง ดีอีเอสกล่าว

นพ.พลวรรธน์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีการปลอมแปลงเว็บไซต์ไทยชนะนั้น ผู้ปลอมแปลงพยายามทำให้เหมือนจริงที่สุด โดยมีการปลอมชื่อเว็บมากมาย จึงขอแนะนำประชาชนว่า ให้หลีกเลี่ยงการเข้าเว็บไซต์ผ่านช่องทางการเสิร์ช แต่ควรพิมพ์เข้าไปเองว่า www.ไทยชนะ.com เพื่อป้องกันความผิดพลาด

หากเข้าเว็บไซต์ปลอมและมีข้อความให้ดาวน์โหลดไฟล์นั้น ขอแนะนำว่า ให้ปิดทันที ไม่ต้องไปยุ่ง เพราะอาจจะมีปัญหาตามมา และ ขอยืนยันว่า กระทรวงดีอีเอสไม่มีการส่งเอสเอ็มเอสให้ประชาชนที่เข้าใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะ ซึ่งขณะนี้กระทรวงดีอีเอส กำลังดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ปลอมแปลงและส่งเอสเอ็มเอสหลอกลวงประชาชน

นพ.พลวรรธน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน แพลตฟอร์มไทยชนะ สามารถรองรับภาษาอังกฤษได้แล้ว และเตรียมพัฒนารองรับภาษาจีน เกาหลี มาเลเซีย ญี่ปุ่น พม่า และเขมร เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าใจว่าประเทศไทยกำลังทำอะไรอยู่

เมื่อถามว่ามีกรณีที่เมื่อเช็คอินแล้วจะได้รับข้อความขยะ เช่น เว็บไซต์ชวนเล่นพนัน นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า เป็นเฉพาะโทรศัพท์บางระบบเท่านั้น ซึ่งเว็บไซต์โฆษณาประเภทนี้ระบาดมาตั้งแต่แรกแล้ว เราดำเนินการแล้ว และรู้แล้วว่าอยู่แถวไหน อย่างไรถ้าใครที่กำลังทำอยู่ขอให้หยุด

"เราคิดระบบมาหลายรูปแบบอาจจะลำบากในช่วงแรก แต่พอทำแล้วจะเกิดความคุ้นชิน เหมือนกับการสวมหน้ากากอนามัย ขอรบกวนทำไปเรื่อยๆ ถ้าทำไปเรื่อยๆจะชินไปกับมันเอง ท่านบอกว่าถือของยุ่งยาก ทีมงานกำลังพัฒนาระบบ เพื่อให้ท่านใช้อย่างราบรื่น ย้ำว่าเอาไปทำอย่างอื่นไม่ได้ เพื่อคุ้มครองโรคเท่านั้น" นพ.พลวรรธน์ กล่าว