posttoday

สวทช.-กระทรวงอุดมศึกษาฯพัฒนา "DDC-Care" แอพฯติดตามคนเสี่ยงติดเชื้อโควิด

01 เมษายน 2563

สวทช.-กระทรวงอุดมศึกษา-กรมควบคุมโรค พัฒนาแอพฯ "DDC-Care" เพื่อติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด -19 ที่กักตัวเอง

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 63 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โพสต์ข้อความระบุหัวข้อว่า "DDC-Care Application ติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ COVID-19" โดยมีเนื้อหาดังนี้

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ได้พัฒนาแอพพลิเคชัน DDC-Care เพื่อใช้ติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด -19 ซึ่งจะต้องกักตัวเองอยู่ภายในที่พักอาศัยเป็นระยะเวลา 14 วัน

แอพฯนี้เปิดใช้งานที่สถาบันบำราศนราดูรตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2563 และทางกรมควบคุมโรคจะให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ใช้งาน DDC-Care ซึ่งทางกรมควบคุมโรคได้สื่อสารทำความเข้าใจกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อให้ใช้ แอพฯนี้กับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด -19 ในพื้นที่แต่ละจังหวัดด้วยครับ

ระบบนี้ทำงานโดย กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงฯ จะเป็นผู้ให้ข้อมูลตอบแบบประเมินสุขภาพทุกวัน ระบบจะออกผลการประเมินตอบกลับว่ามีอัตราความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากเพิ่มขึ้นก็จะมีคำแนะนำให้ติดต่อมาที่กรมควบคุมโรค และหากมีการออกนอกพื้นที่กักตนเอง ระบบจะแจ้งไปที่ส่วนกลาง เพื่อโทรตรวจสอบและบริหารจัดการ ข้อมูลที่กรอกเข้ามาในระบบจะได้รับการรักษาความลับขั้นสูงสุดครับ มี Dashboard ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 4 ระดับใช้งาน ได้แก่ ประเทศ (กรมควบคุมโรค) เขต (สคร. 13 เขต เข้าถึงได้เฉพาะเขตที่ดูแลเท่านั้น) จังหวัด (สสจ. เข้าถึงได้เฉพาะข้อมูลจังหวัดที่ดูแลเท่านั้น) และโรงพยาบาล (แต่ละโรงพยาบาลดูผู้มีความเสี่ยงของโรงพยาบาลเท่านั้น) ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ครับ

ระบบ DDC-Care เป็นเครื่องมือในการควบคุม ตรวจสอบผู้ที่มีความเสี่ยงฯ ให้อยู่ในพื้นที่กักตัวเอง และดูผลของข้อมูลสุขภาพ ทั้งนี้หากสุขภาพแย่ลง ก็จะได้ให้ความช่วยเหลือในทันที รวมถึงช่วยลดงานติดตามผู้มีความเสี่ยงฯ ของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมากครับ ผมมีคลิปตัวอย่างการใช้งานของ App.นี้มาให้ชมด้วยครับ App นี้ตอนนี้มี 3 ภาษาคือ ไทย อังกฤษและจีน

นอกจาก DDC-Care แล้ว สวทช.ยังพัฒนาแอปพลิเคชันทราฟฟี่ฟองดูว์( Traffy Fondue application) แจ้งและติดตามปัญหาเมือง สำหรับสื่อสารเรื่องปัญหาของเมือง ระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบ เช่น ปัญหาความสะอาด, ปัญหาทางเท้า, ปัญหาขยะ และติดตามสถานะการดำเนินการแกัไขปัญหาของหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้ใช้งานแล้วทั่วประเทศมาระยะหนึ่งครับ

ในกรณีภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเกือบทุกพื้นที่ ทีมวิจัยเนคเทค สวทช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยจึงประยุกต์ใช้ Traffy Fondue ในแพลตฟอร์มไลน์ แชทบอท ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อรายงานข้อมูลบุคคลซึ่งเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงการระบาดไวรัวโควิด-19 และพื้นที่กรุงเทพมหานคร เดินทางกลับภูมิลำเนา เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) ต้องการทราบว่าคนที่มีความเสี่ยง เดินทางกลับมายังภูมิลำเนามีอยู่ที่ใดของประเทศบ้าง เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการคัดกรองคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ให้มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมและปฏิบัติตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขครับ

ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการระบาดด้วยการแจ้งข้อมูลผ่านไลน์แชทบอทเพียงเพิ่มเพื่อน @traffyfondue หากพบคนจากพื้นที่เสี่ยงกลับภูมิลำเนา เริ่มแจ้งข้อมูล และส่งคุยกับไลน์แชทบอท @traffyfondue เพื่อที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่ตรวจสอบ สอบสวน และคัดกรองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีการแจ้งเบาะแสของผู้เข้าข่ายเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง กลับมายังภูมิลำเนาเข้ามาในระบบแล้วใน 44 จังหวัด 288 อำเภอ หากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่น พบผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 จะส่งไปตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งจุดนี้จะเชื่อมต่อกับการใช้งานกับระบบ DDC-Care เป็นลำดับต่อไป

นี่เป็นผลงานที่เกิดจากการร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างของฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง ฝ่ายเทคโนโลยี เพื่อให้มีระบบมาใช้ในการติดตามกลุ่มที่มีความเสี่ยงฯอย่างใกล้ชิด ผมขอขอบคุณคณะทำงานเรื่องนี้ในทุกๆฝ่าย นับเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ของคนในชาติอย่างแท้จริงครับ