posttoday

อัยการสูงสุดสั่งดำเนินคดีเฉียบขาด คนกักตุนสินค้า-แชร์ข้อมูลเท็จ

31 มีนาคม 2563

"อัยการสูงสุด" สั่งดำเนินคดีเฉียบขาด กักตุนสินค้า-แชร์ข้อมูลเท็จ ช่วงโควิด-19ระบาด ส่งฟ้องขอลงโทษสถานหนัก ไม่รอลงอาญา

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.63 นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า วันนี้ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ได้มีหนังสือที่ อส 0001/ว 140 ลงวันที่ 31 มี.ค.63 แจ้งให้อัยการทั่วประเทศดำเนินคดีเฉียบขาด กับผู้ทำการกักตุนสินค้าอุปโภค-บริโภค และจำหน่ายสินค้าเกินราคาควบคุม เช่น หน้ากากอนามัย , ไข่ไก่ หรือสินค้าจำเป็นในครัวเรือน เป็นต้น , การฉ้อโกงหรือหลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการส่งข้อความอันเป็นเท็จทางสื่อออนไลน์

ซึ่งเป็นความผิดตาม พระราชกำหนด (พ.ร.ก) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกอบข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) , พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 , พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว ยังส่งผลให้มาตรการที่รัฐบาลกำหนดให้ประชาชนปฏิบัติเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายประยุทธ รองโฆษกอัยการ กล่าวอีกว่า เพื่อให้การดำเนินคดีประเภทดังกล่าว ตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการเป็นไปอย่างเฉียบขาด รวดเร็ว และเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษตามกฎหมาย สอดคล้องกับการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะหยุดการแพร่ระบาดและป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฯ รวมทั้งให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ยุติลงได้โดยเร็วและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น อันเป็นการซ้ำเติมต่อประชาชน

สำนักงานอัยการสูงสุด จึงกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ให้พนักงานอัยการ ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีที่มีลักษณะการกระทำความผิดข้างต้น ดังนี้

1.ให้ดำเนินคดีโดยปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และหนังสือเวียนของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เกี่ยวข้อง

2.ให้ถือเป็นคดีที่มีความจำเป็น เร่งด่วน ที่ต้องดำเนินคดีด้วยความรวดเร็ว

3.ให้พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจสั่งคดีและบรรยายฟ้อง ขอให้ศาลลงโทษในสถานหนัก และไม่รอการลงโทษ

4.ของกลางที่เป็นทรัพย์ที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ขอให้ศาลมีคำสั่งริบตามกฎหมาย

5.ผู้กระทำความผิดที่มีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันมาก่อน ให้บรรยายฟ้องให้ศาลทราบข้อเท็จจริง ขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก หรือเพิ่มโทษหรือนับโทษต่อกัน หรือใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย

6.ให้อธิบดีอัยการกำกับดูแลการดำเนินคดีของพนักงานอัยการในบังคับบัญชาให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติตามหนังสือนี้

โดยหนังสือดังกล่าว ได้แจ้งสั่งการให้อัยการทั่วประเทศถือปฏิบัติทราบแล้ว และถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.63 เป็นต้นไป