posttoday

มธบ.จุดประกายนักศึกษา สร้างมูลค่าของเหลือใช้สู่งานศิลปะรักษ์โลก

19 มีนาคม 2563

มธบ.จับมือ 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ร่วมแชร์ประสบการณ์ด้านอีโคดีไซน์ให้นักศึกษาจุดประกายวิธีสร้างมูลค่าของเหลือใช้สู่งานศิลปะรักษ์โลก

มธบ.จับมือ 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ร่วมแชร์ประสบการณ์ด้านอีโคดีไซน์ให้นักศึกษาจุดประกายวิธีสร้างมูลค่าของเหลือใช้สู่งานศิลปะรักษ์โลก

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) จัดกิจกรรม “Playfessional ชอบทางไหนต้องไปให้สุด”เพื่อให้นักศึกษาได้เปิดมุมมองจากประสบการณ์ตรงของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ เพื่อนำไปพัฒนาความชอบ สร้างเสริมความเป็นมืออาชีพ ตั้งแต่ยังเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย ครั้งนี้จัดภายใต้หัวข้อ “Design เปลี่ยนโลก” การออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีนางสาว

มธบ.จุดประกายนักศึกษา สร้างมูลค่าของเหลือใช้สู่งานศิลปะรักษ์โลก

วงศ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHULADA และ Artist in Residence โรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพฯ เจ้าของผลงานศิลปะสร้างสรรค์ที่เน้นการสื่อสารประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม นายพลวิทย์ รัตนธเนศวิไล หรือคุณวิทย์ Principal Architect & Co-founder PHTAA Living Design และนายทรงวุฒิ ทองทั่ว หรือคุณโย ดีไซเนอร์ไทย เจ้าของไอเดีย แปลงขยะ-ถุงปูน สู่เวทีแฟชั่นในอเมริกา ร่วมเป็นวิทยากร

นางสาววิชชุลดา กล่าวว่า โดยส่วนตัวสร้างสรรค์งานศิลปะมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยที่กำลังศึกษาอยู่ โดยชอบนำสิ่งที่เหลือใช้หรือขยะมาสร้างชิ้นงาน การเป็นศิลปินต้องศึกษาให้กว้าง ต้องรู้ความเคลื่อนไหวของสังคมและโลก ซึ่งปัจจุบันคนหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะเป็นประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังนั้น การนำวัสดุที่เหลือใช้หรือขยะ มาจัดแสดงเป็นงานศิลปะผ่านเรื่องราวที่นำเสนอจากวัสดุต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกคนหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมรักษ์โลกมากขึ้น โดยเป้าหมายในปีนี้อยากสื่อให้ทุกคนเห็นว่าวัสดุเหลือใช้จะไม่มีอีกต่อไป แต่จะเป็นวัสดุรอการใช้งาน ขยะมีคุณค่ามากกว่าที่คิด

“ฝากถึงน้องๆที่อยากเป็นนักออกแบบหรือดีไซเนอร์ เมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงาน ถ้าคิดและฝัน อยากเก่ง อยากประสบความสำเร็จ แต่ไม่พยายามหรือไม่ลงมือทำ สิ่งนั้นจะไม่มีวันเกิดขึ้น เมื่อมีโอกาสเข้ามาในชีวิต อย่าทิ้งโอกาสนั้นเพียงเพราะความไม่ชอบหรือไม่ถนัด เพราะในวันข้างหน้าอาจจะได้นำองค์ความรู้ตรงนั้น มาปรับใช้กับงานในอนาคต และในการทำงานอย่ามองเพียงแค่ได้กำไรหรือขาดทุน เพราะกำไรไม่ใช่ตัวเงินเสมอไป อาจเป็นความสำเร็จที่ทำเพื่อสังคม ส่วนการทำเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ต้องมีคุณธรรม ต้องคำนึงถึงโลก อย่าสร้างเพียงภาพลักษณ์เท่านั้น ถ้ามีใจรักงานทางด้านจริงๆ จะอยู่ในวงการนี้ได้อย่างยั่งยืน ”นางสาววิชชุลดา กล่าว

มธบ.จุดประกายนักศึกษา สร้างมูลค่าของเหลือใช้สู่งานศิลปะรักษ์โลก

นายทรงวุฒิ กล่าวว่า Passion ส่วนตัวชอบใส่เสื้อผ้ามือสอง จึงร่วมกับเพื่อนสร้างแบรนด์เสื้อผ้ามือสองขึ้น แต่เมื่อ 10 ปีก่อนตลาดดังกล่าวยังมีขนาดเล็ก ความนิยมยังน้อย ทำให้ต้องเปลี่ยนอาชีพมาเป็นดีไซเนอร์ที่ Greyhound ประสบการณ์การทำงานในขณะนั้น ทำให้รู้ว่าธุรกิจเสื้อผ้ามีองค์ประกอบหลายอย่าง อาทิ การตลาด การประชาสัมพันธ์ จึงตัดสินใจลาออกและไปศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจและเรียนด้านแฟชั่นประกอบไปด้วย หลังเรียนจบได้นำองค์ความรู้ทั้ง 2 ด้านมารวมกันพร้อมปรับทัศนคติทางด้านความคิดใหม่พบว่า ความยั่งยืนของธุรกิจไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินที่หาได้ การทำธุรกิจไม่ได้วัดที่เงินเสมอไป จึงกลับมาทบทวนพร้อมตอบโจทย์ตัวเองให้ได้ และค้นพบตนเองว่าชอบอะไร มีจุดมุ่งหมายแบบไหน จนตกผลึกสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา ภายใต้ชื่อ Renim Project ออกแบบเสื้อผ้าโดยการหยิบจับสิ่งรอบตัวมาดีไซด์ใหม่ ในวงล้อของ 4R (Reduce, Reuse, Recycle, Repair) โดยคอลเลคชั่นนี้หยิบแรงบันดาลใจจากคนงานก่อสร้างไทยและผลงานดังกล่าวได้มีโอกาสไปร่วมโชว์ในงาน LA Fashion Week 2019 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

“การเป็นนักดีไซเนอร์ ต้องชอบสร้างสรรค์สิ่งใหม่อยู่เสมอ การออกแบบแต่ละครั้งต้องมองวัสดุนั้นให้สวยงามไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนสูง ใช้งานดีไซด์เพิ่มมูลค่าแทน ยิ่งมีต้นทุนน้อยยิ่งทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ทุกวันนี้พฤติกรรมการบริโภคของคนเปลี่ยนไป หลายคนชอบสิ่งที่เฉพาะตัวมากขึ้น การทำสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ จะมีความ Craft ทำให้อยู่ในอาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามตลาดงานออกแบบอีโคดีไซน์ในไทย ยิ่งมีคู่แข่งเยอะยิ่งดี เพราะจะช่วยลดขยะมากขึ้น นอกจากนี้ผลงานที่ออกมามากมายจะเป็นแนวทางให้เด็กรุ่นใหม่มองสิ่งรอบตัวให้มีคุณค่าขึ้น” นายทรงวุฒิ กล่าว

นายพลวิทย์ กล่าวว่า หัวใจหลักของนักดีไซน์ คือ ต้องมีใจรัก ส่วนการสร้างผลงานที่ช่วยลดขยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้วิธี Re Appropriate เป็นการปรับให้เหมาะสมในอีกรูปแบบหนึ่ง ยกตัวอย่างการนำบัวเชิงพื้น เชิงผนัง ที่มีอยู่หรือไม่ใช้แล้วนำมา Reuse ใหม่ ในรูปแบบของเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือทำเป็นผนังในร้านอาหาร สามารถตอบโจทย์การนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ใหม่ และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทางอ้อม ทั้งนี้จากผลงานที่เคยออกแบบในเชิงอนุรักษ์กระแสตอบรับดี เพราะคนกำลังให้ความสนใจด้านนี้ ส่วนคู่แข่งงานออกแบบอีโคดีไซน์ในไทย แต่ละคนก็มีไสตล์การออกแบบแตกต่างกัน ซึ่งผลงานก็ย่อมแตกต่างกันไป

“การมาแชร์ประสบการณ์ผ่านกิจกรรม Playfessional ในครั้งนี้ น้องๆอาจจะยังไม่ได้นำไปใช้ในวัยเรียน แต่ในอนาคตเมื่อเจอสถานการณ์จริง อาจนำเรื่องที่ได้รับฟังในครั้งนี้ไปปรับใช้ในการทำงานได้ สุดท้ายนี้อยากฝากถึงผู้ที่อยากสร้างสรรค์ผลงานออกมา ถ้าอยากสร้างอะไรอย่าคิดนาน เพราะจะทำให้เกิดความล่าช้า ถ้าคิดแล้วลงมือทำเลยจะไปต่อได้เร็วขึ้น” นายพลวิทย์ กล่าว

มธบ.จุดประกายนักศึกษา สร้างมูลค่าของเหลือใช้สู่งานศิลปะรักษ์โลก