posttoday

คนรุ่นใหม่ปลุกจิตสำนึกรักษ์ช้างผ่านโครงงาน"The Elephant Tales"

15 มีนาคม 2563

นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ปลุกจิตสำนึกคนไทย ให้รักษ์ช้าง ผ่านนิทรรศการ"The Elephant Tales"

คณะนิสิตระดับบัณฑิต สาขาการจัดการการสื่อสาร (นานาชาติ) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงาน The Elephant Tales นิทรรศการศิลปะเชิง Interactive ที่สามย่านมิตรทาวน์ บริเวณชั้นจี โดย ร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้สนับสนุนหลัก,สามย่านมิตรทาวน์เอื้อเฟื้อสถานที่การจัดงาน และศิลปินกราฟฟิตี้มือดี มาร่วมช่วยกันเพื่อให้ทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญกับช้างไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ เอกัตศึกษา"Individual study" หลักสูตรการจัดการการสื่อสารนานชาติ นิเทศศาสตร์จุฬา เผยถึงที่มาของโครงการนี้ ว่า นิสิต จำนวน 80 คน ร่วมทำงานกลุ่มในธีมของ"Communication for responsibility" หรือ"การสื่อสารเพื่อความรับผิดชอบ" นิสิตจะเลือกหัวข้อที่ตัวเองสนใจ โดยกลุ่มนี้ ประกอบด้วย สิตมน รัตนาวะดี, รัสรินทร์ เชาวน์จิรกิตติ์ และกานต์พิชชา ประโยชน์อมรกุล ได้ตั้งโจทย์สื่อสารเพื่อการตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ช้างไทยผ่านสื่อ Art Exibition ได้อย่างไร ในสถานการณ์ โควิด-19 ซึ่งถือเอาฤกษ์วันที่ 13 มี.ค. คือ"วันช้างไทย" เป็นวันที่เผยแพร่ผลงานออกสู่สาธารณชน เพื่อตระหนักและเห็นความสำคัญของช้างไทย

สิตมน รัตนาวะดี นิสิตชั้นปีที่4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เผยถึงแรงบันดาลใจที่ทำโครงการนี้ ว่า เป็นคนชอบช้างมาตั้งแต่เด็ก อยากจะให้ประชาชนสนใจช้างไทย เพราะช่วงหลังคนไทยให้สนใจ แพนด้า มากกว่าช้าง ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติไทยเสียอีก

"ผมเริ่มทำจริงจังเมื่อปี2013 ตอนอยู่ม.4 ได้จัดกิจกรรมกอล์ฟการกุศล" Thai Elephant Charity Golf Invitational" ครั้งที่ 1 จัดขึ้น เพื่อหาเงินมาให้ช้าง โดยมีแขกรับเชิญคือ ‘โปรโม-โมรียา และ โปรเม-เอรียา จุฑานุกาล โปรกอล์ฟสองพี่น้อง ระดับโลก กระแสตอบรับดีมาก ถัดมาอีก 2 ปี ผมใช้"โปรอาร์ม"กิรเดช อภิบาลรัตน์ นักกอล์ฟระดับโลกชาวไทย มาเป็นพรีเซนเตอร์ การตอบรับ ดียิ่งขึ้น แล้วจึงต่อยอดมาทำเรื่อง "โอบช้าง"เนื่องจากได้ไปเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของช้างที่ยากลำบาก จึงอยากจะช่วยพวกเขา ทั้งนี้ สิตมน อยากให้รัฐบาล หันมาสนใจและแก้ปัญหาช้างอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่อง อาหารความเป็นอยู่ และยารักษาโรค ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน เพราะช้างหนึ่งเชือก ค่ารักษาอาจมากถึง 1 ล้านบาท ส่วนค่าอาหาร ราว 30,000บาท/เดือน

นอกจากนี้ ผู้รับผิดชอบ ควรทำป้ายระวังช้าง เหมือนต่างประเทศ ที่มีป้ายเตือนผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อลดความเร็ว เมื่อถึงเขตหรือเส้นทางที่ช้างเดินผ่าน และ อยากให้ควาญช้างมีรายได้มากขึ้นเพื่อไม่ให้เอาช้างมาเร่รับบริจาค ตามท้องถนน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาช้างอีกทาง

ด้าน รัสรินทร์ เชาวน์จิรกิตติ์ เพื่อนร่วมโครงการ เผยว่า ส่วนตัวอยากปลุกความตื่นตัวของวัยรุ่นให้มาสนใจเรื่องช้าง ที่ถูกลืมเลือน

"ยังไม่เคยเห็นวัยรุ่นคนไหน สนใจช้างจริงจัง พอเพื่อนชวนก็ตัดสินใจทำทันที ที่ผ่านมาก็มีการตอบรับที่ดี เพราะเรามีการโปรโมตทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ช่องทางโปรโมต ของ" Theelephant tale" มีทั้งไอจี และ เฟซบุ๊ค เพื่อให้วัยรุ่นมาติดตาม หวังว่าโครงงานนี้จะเป็นจุดเล็กๆ ที่สร้างจิตสำนึกให้คนหันมาสนใจช้างกันมากขึ้น"

นอกจากนี้ ในงานยังมี "มาม่าบลูส์" ฟ้าวลัย ศิริสมพล ศิลปินกราฟฟิตี้สุดฮิตมาช่วย สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมช้างไทย 3 ช่วงวัย โดยใช้ 3 สีสดใส สื่อความหมาย อย่างช้างวัยเด็ก ใช้สีแดงสดใส แสดงถึงพลังชีวิตเยอะ ด้วยธรรมชาติที่เติบโตมาจากการกินขี้แม่ช้าง ศิลปินจึงเลือกใช้รูปทรงกลมสื่อแทนความหมาย สู่ช้างช่วงวัยรุ่นหนุ่มสาว ใช้สีฟ้า แสดงถึงพลังการทำงานที่เต็มเปี่ยม มีความสดใหม่ วิ้ง ในท่วงท่ายกซุง ยกขา จบที่ปลายทางช้างแก่ชรา แทนด้วยสีม่วง ให้ความรู้สึกหม่น ตัดด้วยสีสะท้อนแสงแสดงรายละเอียดของความแก่ชรา อย่าง หูดขึ้น ลายแตก ตกกระ งาหัก หรือกระดูกขาที่เสื่อมลง ในขนาดความสูง 160 เซนติเมตร

อย่างไรก็ตาม ภายในงานยังมีการให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาช้างไทย และช่วยเหลือช้างผ่านองค์กรการกุศลต่างๆ อีกทั้ง ยังมี มาตรการความปลอดภัยห่างไกลจากโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ มาตรการวัดไข้ ก่อนเข้างาน พร้อมติดสติ๊กเกอร์ คัดกรอง บริการเจลล้างมือ ใส่ถุงมือขณะแจกเอกสาร, มีจุดมาร์คตำแหน่งยืนขณะชมผลงาน พร้อมตารางทำความสะอาดอุปกรณ์ภายในงานทุก 1 ชม.

คนรุ่นใหม่ปลุกจิตสำนึกรักษ์ช้างผ่านโครงงาน"The Elephant Tales"

คนรุ่นใหม่ปลุกจิตสำนึกรักษ์ช้างผ่านโครงงาน"The Elephant Tales"

คนรุ่นใหม่ปลุกจิตสำนึกรักษ์ช้างผ่านโครงงาน"The Elephant Tales"

คนรุ่นใหม่ปลุกจิตสำนึกรักษ์ช้างผ่านโครงงาน"The Elephant Tales"

คนรุ่นใหม่ปลุกจิตสำนึกรักษ์ช้างผ่านโครงงาน"The Elephant Tales"