posttoday

แรงงานลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้าง-ลูกจ้างเหลือฝ่ายละ4%นาน6เดือน

10 มีนาคม 2563

กระทรวงแรงงานปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมนายจ้าง-ลูกจ้างเหลือฝ่ายละ 4% จากเดิม 5 % เป็นเวลานาน 6 เดือน ช่วยผลกระทบไวรัส

นายจักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน แถลงผ่านศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างและนายจ้างลดผลกระทบโควิด-19 ว่า กระทรวงแรงงานกำหนดให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน เหลือฝ่ายละ 4% จากเดิมที่กำหนดให้นำส่งฝ่ายละ 5% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยลดภาระ

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่เตรียมไว้ช่วยเหลือ ได้แก่

1) ตรวจสอบสิทธิประโยชน์การเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ให้แก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาด หากเป็นสมาชิกฯ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเนื่องจากโรคระบาดที่ทางการของประเทศของประเทศนั้นๆ ประกาศแล้ว จำนวน 15,000 บาท

2) จัดหางาน ตำแหน่งงานว่าง 81,562 อัตรา และจ้างบัณฑิตจบใหม่มาเป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่

3) พัฒนาทักษะฝีมือให้แรงงานในระบบจากเดิม 70,000 คน ฝึกอบรมเพิ่มอีก 30,000 คน รวมฝึกได้ทั้งสิ้น 100,000 คน

4) พัฒนาทักษะฝีมือให้แรงงานนอกระบบจากเดิม 100,000 คน ฝึกอบรมเพิ่มอีก 20,000 คนรวมฝึกได้ทั้งสิ้น 120,000 คน

5) โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานประกันสังคมและธนาคารพาณิชย์ โดยให้สถานประกอบกิจการยื่นขอสินเชื่อในดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด วงเงิน 30,000 ล้านบาท สิ้นสุดโครงการเดือน ธ.ค.63

6) อยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาร่วมกัน 3 กองทุนสุขภาพ (สปส. สปสช. และกรมบัญชีกลาง) สำหรับการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มให้กับสถานพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเพียงพอ

7) แจ้งเวียน สปส.กทม./จังหวัด/สาขา และสถานพยาบาลประกันสังคมทั่วประเทศ เพื่อซักซ้อมแนวปฏิบัติในการให้บริการรักษาพยาบาล กรณีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาโรคโควิด– 19

8) ส่งเสริมให้สถานประกอบการพัฒนาฝีมือแรงงานพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ฯ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เงินกู้และเงินอุดหนุนจากกองทุนฯ