posttoday

สธ.ย้ำคุมเข้มผู้เดินทางจาก 4ประเทศที่ถูกประกาศเป็นเขตติดไวรัสโควิด-19

08 มีนาคม 2563

สธ.แถลงย้ำผู้ที่เดินทางมาจาก 4 ประเทศที่ถูกประกาศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย เกาหลี ,อิตาลี ,อิหร่าน และจีน ต้องลงทะเบียนและแจ้งอาการตามความเป็นจริงตลอด14วันของการเฝ้าระวังอาการ

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยว่า รัฐบาลมีความพยายามที่จะชะลอการแพร่ระบาดในไทย โดยมุ่งดูแลผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ด้วยมาตรการต่าง ๆ

ในส่วนกรณีแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.63 จนถึงเวลา 02.45 น.ของวันที่ 8 มี.ค.63 ได้ทำการตรวจเฝ้าระวังเที่ยวบินจากเกาหลีรวม 4 เที่ยวบิน มีผู้เดินทางทั้งหมด 537 คน เป็นแรงงานไทยจากเกาหลีใต้ 133 คน ในจำนวนนี้พบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง 6 ราย ส่งรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐเรียบร้อยแล้ว

มีผู้เดินทางจากเมืองแทกูและคยองซังเหนือส่งไปสังเกตอาการที่ฐานทัพเรือสัตหีบเป็นเวลา 14 วัน จำนวน 60 คน เป็นชาย 27 คน หญิง 33 คน ส่วนที่เหลือ 67 คนส่งไปสถานที่รับไว้สังเกตอาการตามภูมิลำเนา ภายใต้การกำกับสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเวลา 14 วัน

ส่วนการดูแลผู้ที่เดินทางมาจาก 4 ประเทศที่ถูกประกาศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย เกาหลี ,อิตาลี ,อิหร่าน และจีน ซึ่งรวมถึงมาเก๊าและฮ่องกงด้วยนั้น

กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการใน 2 เรื่องดังนี้

1.จะให้ผู้เดินทางจากทั้ง 4 ประเทศลงทะเบียน ขอให้แจ้งอาการตามความเป็นจริงทุกวันเป็นเวลา 14 วัน โดยผ่านช่องทางที่สะดวก ซึ่งอาจจะแจ้งอาการผ่านทางแอพพลิเคชั่น หากพบว่ามีอาการไข้ ไอ หรือเจ็บคอก็จะสามารถเข้าไปดูแลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากไม่รายงานตัวทุกวันหรือไม่รายงานตามความเป็นจริงถือว่ามีความผิดและสามารถลงโทษได้ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ

2.จะขอความร่วมมือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้พักอยู่ในที่อยู่อาศัยเป็นเวลา 14 วัน โดยไม่ออกไปข้างนอก ถ้าให้ความร่วมมืออย่างดีก็จะไม่เป็นประเด็นแต่อย่างใด

สำหรับผู้เดินทางมาจากประเทศอื่น ๆ ที่เหลือ แนะนำให้ดูแลสุขภาพตัวเอง ถ้ามีอาการให้รีบพบแพทย์ และสามารถทำได้ก็ต้องการให้พักดูแลตัวเองเป็นเวลา 14 วันด้วยเช่นกัน

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ กระทรวงพาณิชย์ ได้แจ้งว่าปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตหน้ากากอนามัยชนิด Surgical Mask ในประเทศ สามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น/วัน โดยได้จัดสรรให้กับบุคลากรสาธารณสุขในสถานพยาบาล จำนวน 700,000 แสนชิ้น/วัน ให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 400,000 ชิ้น/วัน โรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 30,000 ชิ้น/วัน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย/คณะทันตแพทย์/โรงพยาบาลและคลินิกเอกชน/ โรงพยาบาลสังกัด กรุงเทพมหานคร 270,000 ชิ้น/วัน

สำหรับคำแนะนำสำหรับประชาชน ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพ โดยหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันโรค