posttoday

รัฐบาลยันไทยยังไม่มี "ซูเปอร์สเปรดเดอร์" ย้ำไม่มีการปิดข่าวไวรัส

26 กุมภาพันธ์ 2563

รองโฆษกรัฐบาลเผยไทยยังไม่มีผู้ติดเชื้อรายเดียวที่แพร่กระจายเชื้อในวงกว้างหรือ "ซูเปอร์สเปรดเดอร์" ยืนยันไม่มีการปิดข่าวการระบาด

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยัน สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยยังอยู่ระยะที่ 2 ไม่มีผู้ป่วยรายใดเป็น "ซูเปอร์สเปรดเดอร์" (Super-spreader) หรือผู้ติดเชื้อรายเดียวที่แพร่กระจายเชื้อในวงกว้าง รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขยังเฝ้าระวังและยกระดับการคัดกรอง พร้อมเร่งทำงานเชิงรุก

ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ประกาศกำหนดให้โรค COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายอันดับที่ 14 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อให้อำนาจตามกฎหมายกับเจ้าหน้าในการตรวจและสอบสวนโรค ยกระดับการคัดกรอง ขยายประเทศเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง และกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้การตรวจพบทำได้เร็วยิ่งขึ้น

ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อนั้น ขอยืนยันว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานตัวเลขเปิดเผย ตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริงทางการแพทย์นับตั้งแต่มีการพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาในไทยรายแรกนอกประเทศจีน และมีมาตรการคัดกรองตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.เป็นต้นมา ซึ่งมาตรการการป้องกันของไทยยังได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนช่วยพิจารณาอย่างรอบด้าน อย่าเห็นประโยชน์จากโปรโมชั่นท่องเที่ยวราคาถูกในขณะนี้ ขอให้เลื่อนหรืองดเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดของโรคในช่วงนี้ หากจำเป็นต้องเดินทางไปก็ให้ปฏิบัติตนด้วยความระมัดระวัง สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ เมื่อกลับมาให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตัวเอง 14 วัน หากมีไข้ ไอผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์พร้อมเปิดเผยประวัติการเดินทาง

สำหรับประชาชนในประเทศก็ต้องไม่ลืม "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่อยู่เสมอ พร้อมให้ความมั่นใจว่า ไทยยังอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมโรคได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก แต่เราจะต้องไม่ประมาท และจะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคน

นอกจากนี้ยังมีวิธีป้องกันเชื้อไวรัสจากการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก ประกอบด้วย 1.งดเข้าร่วมกิจกรรมหากมีอาการป่วยของโรคระบบทางเดินหายใจ 2.จัดเตรียมหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เจลล้างมือสำหรับใช้เองให้เพียงพอ 3.หากสังเกตเห็นผู้ร่วมกิจกรรมมีอาการไอ ไข้ จาม มีน้ำมูก ควรแนะนำให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ จุดพยาบาลแต่ละแห่ง และ 4.หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้มีอาการป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจที่ไม่ป้องกันตัวเอง