posttoday

ศาลไม่ให้ประกัน "บรรยิน-พวก" คดีอุ้มพี่ผู้พิพากษา พบดักเฝ้าเหยื่อก่อนก่อเหตุ

25 กุมภาพันธ์ 2563

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ไม่ให้ประกัน "บรรยิน-พวก" คดีอุ้มฆ่าพี่ผู้พิพากษาหลัง ตร.ส่งฝากขังแจ้ง 3 ข้อหาซ่องโจร-ข่มขู่เจ้าพนักงาน พบดักเฝ้าเหยื่อ 9 วันก่อนก่อเหตุ

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 63 ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี พนักงานสอบสวน บก.ป. ได้ควบคุมตัว พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์ , นายมานัส ทับนิล , นายณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์ , นายชาติชาย เมณฑ์กูล , นายประชาวิทย์ หรือตูน ศรีทองสุข , .ด.ต.ธงชัย หรือ ส.จ.อ๊อดวจีสัจจะ ผู้ต้องหา 1-6 ในความผิดฐาน ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป , เป็นซ่องโจร โดยเป็นการสมคบเพื่อกระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป , พยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้อื่น โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่โดยร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใด

มายื่นคำร้องฝากขังครั้งเเรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งเเต่วันที่ 25 ก.พ.-7 มี.ค.นี้ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานบุคคลจำนวนอีกหลายปาก และรอผลการตรวจสอบวัตถุพยานทางวิทยาศาสตร์ ที่ได้จากการตรวจค้นบ้านพักของผู้ต้องหา และจากที่เกิดเหตุ , รอผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุ , รอผลการตรวจสอบประวัติผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร

ทั้งนี้พนักงานสอบสวน ได้ขอคัดค้านการให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดด้วย เนื่องจากคดีที่มีอัตราโทษสูงเกิน 3 ปี และเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

โดยคำร้องระบุพฤติการณ์ สรุปว่า สืบเนื่องจากพนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ และทายาทของนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง ผู้ตาย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน กับพวก เป็นจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารใบโอนหุ้นและมีการโอนหุ้นของนายชูวงษ์ไปให้พวกของ พ.ต.ท.บรรยิน ที่ร่วมกระทำความผิดโดยทุจริต ซึ่งเป็นคดีที่มีความเกี่ยวพันกับการฆาตกรรมอำพรางนายชูวงษ์ ที่พ.ต.ท.บรรยิน ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญาพระโขนงอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ พิจารณาคดีโอนหุ้น เป็นคดีหมายเลขดำ อ.305/2561 โดยมอบหมายผู้พิพากษาอาวุโสเป็นเจ้าของสำนวนและได้มีการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีการนัดหมายฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าวในวันที่ 20 มี.ค.63

ต่อมาระหว่างวันที่ 7 ม.ค - 5 ก.พ.63 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน ผู้ต้องหาที่ 1-6 ได้สมคบกันเพื่อทำการลักพาตัวนายวีรชัย พี่ชายของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน เพื่อนำไปข่มขู่ให้มีคำพิพากษายกฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน กับพวก พร้อมกับให้คืนเงินกับหุ้นในคดีทั้งหมดแก่ พ.ต.ท.บรรยิน ซึ่งการกระทำนั้นมีการวางแผนและแบ่งหน้าที่กันทำ โดยวันที่ 7 ม.ค. พ.ต.ท.บรรยิน ผู้ต้องหาที่ 1 ได้มอบมือถือให้กับผู้ต้องหาที่ 2-3 คนละ 1 เครื่อง ส่วนผู้ต้องหาที่ 1 มีไว้ใช้เองจำนวน 2 เครื่อง จากนั้นได้เดินทางจากจ.นครสวรรค์ มายังกรุงเทพฯ

จากนั้นผู้ต้องหาที่ 2-3 ได้ช่วยกันนำรถจักรยานยนต์ขึ้นท้ายรถกระบะ โดยมีผู้ต้องหาที่ 2 เป็นคนขับ และมีผู้ต้องหาที่ 1-3 นั่งไปด้วย โดยขับมาจอดในวัดสุทธิวราราม จากนั้นผู้ต้องหาที่ 2 กับพวก ได้นำรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว มาติดแผ่นป้ายทะเบียน ลจข 579 กรุงเทพฯ และผู้ต้องหาที่ 3 ได้ขี่รถจักรยานยนต์ซึ่งมีผู้ต้องหาที่ 3 นั่งซ้อนท้าย ไปเฝ้าดูผู้พิพากษาและพี่ชาย แต่ไม่พบ จึงได้จอดรถจักรยานยนต์ไว้ที่บริเวณ ข้างธนาคารกรุงไทยฯ ใกล้ศาลอาญากรุงเทพใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กทม. แล้วนั่งรถแท็กซี่กลับบ้านมาที่ ซ.คลังมนตรี ส่วนผู้ต้องหาที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะกลับบ้านไป

ต่อมาวันที่ 8, 12, 13, 14, 15, 16, 17 และ 20 ม.ค.63 ผู้ต้องหาที่ 1-3 ยังคอยติดตามสะกดรอยเฝ้าดูพฤติการณ์ของผู้พิพากษาและพี่ชายที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ไปจนถึงบ้านพักย่าน ถ.วรจักร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. โดยมีการใช้รถจักรยานยนต์ติดแผ่นป้ายทะเบียน ลจข– 597 กรุงเทพฯ และใช้รถยนต์ ทะเบียน 2 กฐ-524 กรุงเทพฯ ในการเฝ้าติดตามจนได้ทราบถึงพฤติกรรมและกิจวัตรประจำวันของผู้พิพากษาและพี่ชาย โดยในแต่ละวันพี่ชายของผู้พิพากษาจะนั่งรถแท็กซี่ จากบ้านพักมารับ-ส่งผู้พิพากษาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นประจำ

ซึ่งผู้ต้องหาที่ 1 2,3 ได้จัดเตรียมยานพาหนะที่ใช้ในการก่อเหตุไว้เป็นรถทะเบียน ชฉ-683 กรุงเทพฯที่มี พ.ต.ท.ประเสริฐ ผลประสาร เป็นเจ้าของและผู้ครอบครอง โดยนำมาถอดแล็คหลังคา บันไดด้านหลัง และกระจกที่กันแมลงหน้ารถออก แล้วนำแผ่นป้ายทะเบียน 3 กว-7719 กรุงเทพฯ มาติดไว้แทนเพื่ออำพราง

และก่อนถึงวันที่จะลงมือก่อเหตุลักพาตัว ผู้ต้องหาที่ 1 ได้สั่งการให้ผู้ต้องหาที่ 3 ซื้อน้ำมันเบนซิน 95 พร้อมให้จัดเตรียมแผ่นสังกะสี และยางรถยนต์ 4 เส้น เตรียมไว้ โดยผู้ต้องหาที่ 1,3 ร่วมกันขนสิ่งของดังกล่าวเข้าไปยังจุดที่บริเวณเขาใบไม้ ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ โดยใช้รถยนต์กระบะ ซึ่งมีผู้ต้องหาที่ 3 เป็นผู้ขับ

ต่อมาในวันที่ 4 ก.พ.63 ก่อนเกิดเหตุผู้ต้องหาที่ 1 ได้ขับรถติดแผ่นป้ายทะเบียน 3 กว-7719 กรุงเทพฯ ออกจากบ้านเลขที่ 9/13 ซ.คลังมนตรีฯ โดยผู้ต้องหาที่ 2 ขับรถยนต์ตามออกไปในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยนายมานัส ขับรถออกไป อ.บางบัวทอง มุ่งหน้าไปทางจ.สุพรรณบุรี ส่วนรถคันที่ใช้ก่อเหตุ ได้ขับขึ้นทางด่วนที่ด่านเก็บเงินพหลโยธิน ขับลงที่ถ.จันทน์ แล้วไปจอดรอที่ฝั่งตรงข้ามศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 (จุดเกิดเหตุ) เมื่อพี่ชายผู้พิพากษาลงจากรถแท็กซี่ ผู้ต้องหาที่ 1 , 3 , 4 , 5 ก็ร่วมกันพาตัวพี่ชายผู้พิพากษาขึ้นรถแล้วขับหลบหนี ขึ้นทางด่วนที่ด่านสุรวงศ์ ก่อนที่จะขับไปเข้าทางด่วนที่ด่านบางซื่อ 1 ก่อนที่จะขับมุ่งหน้าไปทาง อ.บางบัวทอง และจ.สุพรรณบุรี

ระหว่างนั้นผู้พิพากษา ได้โทรศัพท์ไปหาพี่ชาย แต่ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกได้ออกอุบายว่าพี่ชายนั้นเกิดอุบัติเหตุ เมื่อผู้พิพากษา ตรวจสอบตามโรงพยาบาลต่างๆ แล้วไม่พบเหตุ จึงไปแจ้งความตำรวจ ระหว่างนั้นผู้พิพากษาโทรศัพท์ไปยังหมายเลขของพี่ชายอีกครั้ง ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ได้พูดข่มขู่ผู้พิพากษาให้พิพากษายกฟ้อง พ.ต.ท.บรรยินกับพวกจำเลยคดีหุ้นพร้อมกับให้คืนเงินกับหุ้นทั้งหมด หากไม่ทำตามก็จะฆ่าพี่ชาย

ซึ่งเวลาต่อมา ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกได้ร่วมกันฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาแล้วนำศพไปเผาอำพราง ในพื้นที่ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ก่อนที่จะนำศพของพี่ชายผู้พิพากษาที่ยังเผาไหม้ไม่หมดรวมทั้งเถ้ากระดูก และเถ้าถ่านในจุดที่เผา ไปทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อทำลายหลักฐานในการกระทำผิด

โดยพนักงานสอบสวน บก.ป. ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ขอหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 6 คนศาลได้ออกหมายจับ พ.ต.ท.บรรยิน ผู้ต้องหาที่ 1 เลที่ 221/2563 ลงวันที่ 19 ก.พ.63 , นายมานัส ผู้ต้องหาที่ 2 หมายจับที่ 222/2563 ลงวันที่ 19 ก.พ. 63 , นายณรงค์ศักดิ์ ผู้ต้องหาที่ 3 หมายจับที่ 223/2563 ลงวันที่ 19 ก.พ.2563 , นายประชาวิทย์ ผู้ต้องหาที่ 4 หมายจับที่ 248/2563 ลงวันที่ 23 ก.พ.63 , ด.ต.ธงชัย ผู้ต้องหาที่ 5 หมายจับที่ 249/2563 ลงวันที่ 23 ก.พ.63 , นายชาติชาย ผู้ต้องหาที่ 6 หมายจับที่ 250/2563 ลงวันที่ 23 ก.พ.63 ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ได้จับกุมตัวผู้ต้องหาที่ 1-6 ได้ตามหมายจับดังกล่าว

ขณะที่เมื่อเวลา 14.00 น. ศาล พิจารณาคำร้องและสอบถามพนักงานสอบสวนกองบังคับการกองปราบปราม แล้วยืนยันเหตุจำเป็น ตามคำร้องที่จะรอตรวจดีเอ็นเอจากชิ้นส่วนศพ รอผลตรวจดีเอ็นเอจากคราบเลือดที่พบในรถยนต์ของกลาง รอสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีก 20 ปาก รอผลตรวจสถานที่เกิดเหตุ

ขณะที่ พ.ต.ท.บรรยิน ผู้ต้องหาที่1 ได้แถลงต่อศาลให้ทราบว่านับตั้งแต่ถูกจับกุมจนถึงขนาดนี้ยังไม่ได้ติดต่อกับทนายความของตัวเองโดยตำรวจได้ยึดโทรศัพท์ไว้

ขณะที่ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่า ในระหว่างสอบคำให้การในชั้นสอบสวนได้มีทนายได้มีทนายอยู่ด้วยหรือไม่ และให้การไว้อย่างไร

พ.ต.ท.บรรยิน ระบุว่ามีทนายที่รัฐจัดหาให้และมีภรรยาอยู่ด้วยโดยตลอด ส่วนตนให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ขอให้การในชั้นศาล ศาลจึงชี้แจงว่ากระบวนการดังกล่าวมาถือได้ว่ามีทนายความของผู้ต้องหาร่วมอยู่ด้วยแล้ว ทั้งนี้เมื่อศาลพิจารณาคำร้องแล้วผู้ต้องหาทั้งหมดไม่คัดค้านจึงอนุญาตให้ฝากขังได้

อย่างไรก็ดีได้แจ้งให้ พ.ต.ท.บรรยิน ทราบว่าในวันที่ 26 ก.พ.63 เวลา 13.00 น. อัยการจะนำพยานมาสืบหน้าล่วงหน้า ซึ่งได้มีการประสานกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการกองปราบปรามแล้ว โดยให้ผู้ต้องหาที่ 1 จัดหาทนายมาให้พร้อมทำการซักค้านด้วย หากไม่มีทนายศาลจะจัดหาให้ตามขั้นตอน

เมื่อเวลา 16.30 น. ภายหลังการฝากขังแล้วกลุ่มผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยขั่วคราว

ขณะที่ศาลพิจารณาคำร้องผู้ต้องหาที่ 1-6 พร้อมหลักทรัพย์แล้ว พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยชั่วคราว เชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรให้ปล่อยชั่วคราว ในชั้นนี้มีคำสั่งให้ยกคำร้อง พร้อมแจ้งเหตุผลในการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 1-6

ภายหลังศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้วเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาที่ 1-6 ไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างฝากขังนี้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นที่มีการกล่าวกันว่า นายบรรยิน เคยขับรถไล่ชนผู้พิพากษากับพี่ชายก่อนหน้านี้นั้นมีความคลาดเคลื่อน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุเกิดในช่วงสืบพยานคดีโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์ซึ่งขณะนี้มีการสืบพยาน จนถึงช่วงค่ำ โดยผู้พิพากษามีพี่ชายมารับตามปกติ ส่วน พ.ต.ท.บรรยิน ได้ขับรถออกจากศาลพอดี จึงมีการชะลอรถเทียบผู้พิพากษาในลักษณะข่มขู่