posttoday

ประกาศ "โควิด-19" เป็นโรคติดต่ออันตราย เพิ่มอำนาจป้องกันการระบาด

24 กุมภาพันธ์ 2563

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์ ประกาศให้ โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย เพิ่มอำนาจตามกฎหมายเพื่อป้องกันการระบาดให้มีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย

ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการประกาศนี้ไม่ได้แปลว่าประเทศเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 แต่อย่างใด เป็นการประกาศเพื่อให้การทำงานเพื่อชะลอหรือยืดระยะเวลาการเข้าสู่ระยะที่ 3 ไว้ให้ได้นานที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทย มีการประกาศโรคติดต่ออันตรายแล้ว 13 โรค ได้แก่ 1.กาฬโรค 2.ไข้ทรพิษ 3.ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก 4.ไข้เวสต์ไนล์ 5.ไข้เหลือง 6.โรคไข้ลาสซา 7.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ 8.โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 9. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10.โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา 11.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส 12.โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส และ 13.วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก หากโรคโควิด-19 ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการฯก็จะเป็นลำดับที่ 14

ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กำหนดไว้ในหมวด 6 การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ อาทิ มาตรา 35 กรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตราย ให้คณะกรรมการโรคติดต่อฯมีอำนาจ สั่งปิดสถานที่ต่างๆ ไว้เป็นการชั่วคราว สั่งให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคหยุดการประกอบอาชีพชั่วคราว และสั่งห้ามผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคเข้าไปในสถานที่บางแห่ง เป็นต้น โดยตามพ.ร.บ.นี้ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ