posttoday

กรมการค้าภายในนำค่าบริการของร.พ.เอกชนขึ้นเว็บไซต์ปลายก.พ.นี้

22 กุมภาพันธ์ 2563

กรมการค้าภายในเตรียมนำค่าบริการ 300 รายการของร.พ.เอกชน ขึ้นเว็บไซต์ ปลายก.พ.นี้ สร้างความโปร่งใส และเป็นธรรมให้กับผู้ใช้บริการ

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยความคืบหน้าในการเตรียมนำค่าบริการในโรงพยาบาลเอกชน 300 รายการ ให้ประชาชนตรวจสอบราคาได้ผ่าน QR Code และเว็บไซต์ กรมการค้าภายใน www.dit.go.th เพื่อให้ประชาชนได้เปรียบเทียบราคาค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชน คาดว่าจะสามารถประกาศขึ้นเว็บไซต์ได้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563

กรมการค้าภายในนำค่าบริการของร.พ.เอกชนขึ้นเว็บไซต์ปลายก.พ.นี้

“ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2562 กรมการค้าภายในได้นำราคายาของแต่ละโรงพยาบาลขึ้นบนเว็บไซต์ของกรมฯ เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบและค่อนข้างได้รับความสนใจจากผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยเข้ามาเช็คและเทียบราคาหลายแสน ปรากฏว่าประชาชนจำนวนมากยืนยันว่า การเปรียบเทียบราคายา ก่อนเข้ารับบริการ และลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องการเข้าไปรักษาพยาบาลได้ระดับหนึ่ง จากเดิมก่อนที่กรมการค้าภายในจะเข้ามาดำเนินการปรากฏว่าราคายาในโรงพยาบาลเอกชน ราคาสูงกว่าค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 300-8,000% ดังนั้นกรมการค้าภายในก็จะดำเนินการดูแลเรื่องดังกล่าวให้ครอบคลุมมากที่สุดเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกๆ ฝ่าย ทั้งประชาชนและโรงพยาบาลเอกชน”

กรมการค้าภายในนำค่าบริการของร.พ.เอกชนขึ้นเว็บไซต์ปลายก.พ.นี้

สำหรับค่าบริการในโรงพยาบาลเอกชน 300 รายการที่จะเพิ่มเติมในปลายเดือนมีนาคม เช่น ค่าบริการราคาเตียง, ค่าห้อง, อาหาร, การตรวจเลือด, การตรวจไต, ปัสสาวะ, ตรวจไวรัสตับ, การตรวจแบบคัดกรองเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี, การผ่าตัด, การตรวจเยี่ยมผู้ป่วย, การทำหมัน, การส่องกล้องเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ เป็นต้น ทั้งนี้ หากมีการขึ้นเว็บไซต์เกี่ยวกับค่าบริการ ก็จะทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในการเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชน เพราะสามารถประเมินค่าใช้จ่ายตัวเองแบบไม่เป็นทางการได้ และที่ผ่านมาพบว่าค่าบริการของแต่ละโรงพยาบาลก็มีความแตกต่างกันมากหลายเท่าตัว

กรมการค้าภายในนำค่าบริการของร.พ.เอกชนขึ้นเว็บไซต์ปลายก.พ.นี้

นายวิชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมการค้าภายในอยู่ระหว่างการหาแนวทางในการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้แก่โรงพยาบาลเอกชนที่คิดค่ายาและค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ได้แพงมากนักเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาใช้บริการ หลังจากก่อนหน้านี้ ได้มอบเกียรติบัตรโรงพยาบาลคุณธรรมให้กับโรงพยาบาลเอกชน 166 แห่งทั่วประเทศ ที่พิจารณาจากการคิดราคายาและค่ารักษาพยาบาลแบบเป็นธรรม และไม่เอารัดเอาเปรียบประชาชนแล้ว อาทิ โรงพยาบาลเทพธารินทร์, โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์,โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน, โรงพยาบาลนวมินทร์, โรงพยาบาลธนบุรี 2, โรงพยาบาลบางนา, โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ, โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โรงพยาบาลพัทยาอินเตอร์เนชั่นแนลฮอสพิทอล, โรงพยาบาลเชียงใหม่ใกล้หมอ, โรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต เป็นต้น สามารถดูรายชื่อได้ที่ www.dit.go.th

กรมการค้าภายในนำค่าบริการของร.พ.เอกชนขึ้นเว็บไซต์ปลายก.พ.นี้

นายวิชัย กล่าวว่า สำหรับในส่วนของประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ฉบับที่ 87 พ.ศ. 2562 เรื่องการแจ้งราคาการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์และบริการอื่นของสถานพยาบาล โดยกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนแจ้งราคาซื้อ ราคาจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาลฯ ผู้ผลิต-ผู้นำเข้า-ผู้จัดจำหน่ายแจ้งราคาจำหน่ายยา และสิทธิของผู้ป่วยยุคใหม่ ทำให้ในปัจจุบันผู้ป่วยมีสิทธิเพิ่มเติมอย่างมากในการเข้าไปรักษาพยาบาล เช่น สามารถตรวจสอบราคาด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด ณ บริเวณโรงพยาบาลเอกชน เพื่อตรวจสอบราคายาที่เข้ารับการรักษาหรือเว็บไซต์กรมการค้าภายใน www.dit.go.th

นอกจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนต้องประเมินค่ารักษาเบื้องต้นให้ผู้ป่วยทราบ และต้องแจ้งราคายา เวชภัณฑ์และค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบ ก่อนจำหน่ายหรือให้บริการเมื่อผู้ป่วยร้องขอ ส่วนการซื้อยานั้นสำหรับผู้ป่วยนอก สามารถเรียกให้โรงพยาบาลออกใบสั่งยาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และใบแจ้งราคายา ให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ ใบสั่งยาอย่างน้อยต้องประกอบด้วยชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า รูปแบบยา ขนาดหรือปริมาณ จำนวน วิธีใช้ ระยะเวลาในการใช้ ส่วนใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถไปซื้อยาในร้านขายยาข้างนอกได้ หากไม่ปฏิบัติตามโรงพยาบาลจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการสามารถร้องเรียน สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือศูนย์พร้อมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งคดีความยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ที่ชั้น 3 กรมการค้าภายในชั้น 3 และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำเนาใบเสร็จค่ายา เวชภัณฑ์ หรือค่าบริการต่างๆ เป็นต้น