posttoday

สารระเหยไม่ใช่ยาเสพติด แต่ใช้ผิดประเภทเสี่ยงติดคุก

12 กุมภาพันธ์ 2563

ป.ป.ส.ชี้"สารระเหย” ไม่ใช่ยาเสพติด สูดดมนานส่งผลป่วยจิตเวชคุมสติไม่ได้ -พฤติกรรมรุนแรง ในประเทศพบจำนวนผู้เสพหลักพันราย ระบุร้านค้าจำหน่ายให้เยาวชนมีความผิดตามกม.

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวถึงปัญหาวัยรุ่นเสพสารระเหยจนเกิดอาการคุ้มคลั่งทำร้ายมารดาจนเสียชีวิตว่า ตามพ.รบ.ยาเสพติดให้โทษ 2522 สารระเหยไม่ใช่ยาเสพติด แต่เป็นสารที่ได้จากขบวนการสกัดน้ำมันปิโตรเลียม มีลักษณะเป็นไอ ระเหยได้ในอากาศ พบในรูปของกาวอินทรีย์สังเคราะห์ ทินเนอร์ หรือแลกเกอร์ และใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม งานหัตถการต่างๆ เช่น งานตกแต่งหรืองานเครื่องเรือน หรือที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันเช่น ยาทาเล็บ สีสเปรย์ สเปรย์ฉีดผม น้ำมันรถ หมึกเติมเคมี เป็นต้น แต่พบว่ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำไปสูดดม และหากสูดดมเป็นระยะเวลานานจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างรุนแรง มีผลต่อสมอง สูญเสียความทรงจำและประสาทสัมผัสบางส่วน เช่น ทางการได้ยินหรือการรับกลิ่น หรือไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดภาวะซึมเศร้า ควบคุมตนเองไม่ได้ เดินเซ ตาพร่ามัว ในบางรายอาจชักเกร็งและหมดสติ ร่างกายมีอาการสั่น สมองสั่งการช้า และจะทำให้มีพฤติกรรมผิดปกติ จนเกิดอาการทางจิตเวช

นายนิยม กล่าวว่า กล่าวอีกว่า แม้สารระเหยจะไม่ใช่ยาเสพติดแต่หากพบว่าผู้ใดจำหน่ายหรือขายให้กับเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์คือ เอาไปสูดดมหรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อความเพลิดเพลินถือเป็นความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ชักจูง ยุยงส่งเสริม หลอกลวงให้เด็กหรือเยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี สูดดมสารระเหย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันในประเทศไทยจะมีจำนวนผู้ติดสารระเหยเพียงไม่กี่พันราย แต่ด้วยผลเสียที่เกิดขึ้นต่อร่างกายของผู้สูดดมอย่างรุนแรง จึงต้องเฝ้าระวังไม่ให้การแพร่ระบาดของสารระเหยขยายตัวมากขึ้น