posttoday

แอมเนสตี้ฯจี้ไทยแก้กม.หมิ่นเบื้องสูง ปล่อยผู้ถูกคุมขังข้อหานี้

30 มกราคม 2563

แอมเนสตี้ฯ เปิดรายงานสถานการณ์สิทธิฯ เอเชีย-แปซิฟิก ชี้ไทยไม่ได้มาตรฐานสากล ขอพักใช้โทษประหารชีวิตเป็นทางการ แก้ไขกม.หมิ่นเบื้องสูง ปล่อยผู้ถูกคุมขังทันทีไม่มีเงื่อนไข

ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประจำปี 2562/2563 โดยในรายงานนำเสนอบทวิเคราะห์เจาะลึกถึงพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนใน 25 ประเทศและดินแดน กล่าวถึงบทบาทของนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ต่อสู้กับความพยายามในการปราบปรามต่อผู้ที่เห็นต่าง การต่อสู้กับปฏิบัติการผ่านโซเชียลมีเดียที่รุนแรง และการเซ็นเซอร์ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง

นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปฟิซิก กล่าวสรุปภาพรวมรายงานฯ และระบุว่า สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยถือว่าน่าผิดหวัง เพราะประเทศยังอยู่ในเงาของ คสช. ทั้งที่ช่วงระยะเปลี่ยนผ่านควรนำไปสู่การมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ประเทศไทยไม่ได้มีสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเลวร้ายที่สุดในภูมิภาค แต่การยกเลิกคำสั่ง คสช.ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยมีสถานการณ์สิทธิมนุษยชนดีขึ้นตามมาตรฐานสากล

“ในเอเชียที่เรามักได้ยินรัฐบาลประเทศต่างๆ บอกว่าไม่สามารถทำตามค่านิยมสิทธิมนุษยชนได้ เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลเมื่อรัฐบาล ไม่อยากให้สัตยาบันในกฎหมายสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น สิทธิมนุษยชนเป็นกฎสากลที่จะเคารพสิทธิของทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ สีผิว เพศ ความเชื่อ สิทธิมนุษยชนมีความสำคัญรระดับนานาติ เป็นสามเสาหลักขององค์การสหประชาชาติ ด้านสันติภาพ ความมั่นคงและความเป็นธรรม เรามีกลไกด้านความยุติธรรมระหว่างประเทศ เช่น การใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศที่น่าจะเป็นกลไกที่นำมาใช้ได้ในระยะยาว และเป็นกรอบให้เกิดการเรียกร้องตรวจสอบได้ในระบบสิทธิมนุษยชน” นิโคลัสกล่าว

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ฯ ต่อรัฐบาลไทยว่า ปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้าและความพยายามทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทย เรามีข้อเสนอแนะเพื่อให้มีการทำงานในประเด็นนี้มากขึ้น เรื่องสำคัญที่เรื้อรังมานานคือความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธในสามจังหวัดชายแดนใต้ ขอให้มีการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ลำเอียงต่อการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายในทุกกรณี ให้ผู้ถูกควบคุมตัวตามสถานที่ต่างๆ และค่ายทหารสามารถเข้าถึงทนาย ญาติ และการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม และอนุญาตหน่วยงานสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระเข้าเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวทุกแห่งได้ เรื่องการทรมานและบังคับให้สูญหาย อยากให้ผ่านร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับให้สูญหาย โดยสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยที่มีไว้ต่อต่างประเทศ อยากให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระรอบด้านต่อข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการทรมานและการกระทำที่โหดร้ายโดยเจ้าหน้าที่ และให้มีการนำตัวคนผิดเข้ากระบวนการยุติธรรม รวมถึงต้องสืบหาและเปิดเผยที่อยู่ของทนายสมชาย นีละไพจิตร รวมถึงบุคคลอื่นๆ ที่สูญหาย จนกว่าจะทราบชะตากรรม

“ปีนี้เป็นปีแห่งการปราบปราม อยากขอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ให้มีการทบทวนกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีที่ไทยมีต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยพลการและกฎหมายที่ต่อต้านการแสดงออกโดยสงบ เรื่องและผู้แสวงหาผู้ลี้ภัยขอให้เคารพหลักการไม่ส่งกลับ เคารพต่อพันธกรณีที่อนุญาตให้ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยสามารถติดต่อ UNHCR และรับรองว่าผู้แสวงที่ลี้ภัยจะได้รับการคุ้มครอง โดยอยากให้รัฐบาลให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย

ขอให้มีการพักใช้โทษประหารชีวิตในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นทางการในทันที ลงนามและให้สัตยาบันสารพิธีเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อยากเห็นความจริงจังในการมุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต เรื่องกฎหมายจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น เราอยากเห็นการฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบโดยทันที ต้องการให้มีการแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ ให้ยกเลิกข้อบัญญัติที่อนุญาตให้บุคคลใดๆ สามารถฟ้องร้องบุคคลอื่นในข้อหานี้ได้ ให้มีการกำหนดโทษให้ได้สัดส่วนต่อฐานความผิด และชะลอการใช้กฎหมายนี้ นอกจากนี้เราขอให้ถอนข้อกล่าวหาบุคคลที่ถูกดำเนินคดีเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออก และปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังในข้อหานี้ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข” ปิยนุชกล่าว