posttoday

ดีเอสไอชง 6 ประเด็นความเห็นแย้งเสนออัยการสูงสุดฟ้อง-ไม่ฟ้องคดีฆ่า "บิลลี่"

28 มกราคม 2563

ดีเอสไอชง 6 ประเด็นความเห็นแย้งเสนออัยการสูงสุดฟ้อง-ไม่ฟ้องคดีฆาตกรรมบิลลี่ จับพิรุธอัยการรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวน ยกฎีกาคดีหมอผัสพรเทียบเคียง ไม่มีใครเห็นขั้นตอนการฆ่า แต่ใช้ชิ้นส่วนอวัยวะ-ความเห็นแพทย์เป็นหลักฐานพิสูจน์

ดีเอสไอชง 6 ประเด็นความเห็นแย้งเสนออัยการสูงสุดฟ้อง-ไม่ฟ้องคดีฆาตกรรมบิลลี่ จับพิรุธอัยการรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวน ยกฎีกาคดีหมอผัสพรเทียบเคียง ไม่มีใครเห็นขั้นตอนการฆ่า แต่ใช้ชิ้นส่วนอวัยวะ-ความเห็นแพทย์เป็นหลักฐานพิสูจน์

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานสอบสวนคดีฆาตกรรมนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ยกร่างประเด็นความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 รวม 6 ประเด็น ดังนี้

1.ประเด็นความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอัยการเห็นว่า วิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมในไมโทคอนเดรีย เป็นเพียงวิธีการตรวจหาพันธุกรรมของบุคคลในสกุลเดียวกันจากพันธุ์กรรมฝ่ายมารดา ไม่มีพยานบุคคลใดยืนยันได้ถึงแม่ของยายและทวดที่เลยไปกว่าชั้นมารดาของนายพอละจีในแต่ละสายว่า ใครที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว

ซึ่งดีเอสไอมองว่า อัยการไม่ได้ใช้ดุลยพินิจรับฟังพยานหลักฐานแตกต่างจากพนักงานสอบสวน แต่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงตามพยานหลักฐานในสำนวน เนื่องจากข้อเท็จจริงของอัยการไม่มีการอ้างอิงว่ารับฟังในประเด็นนี้เอามาจากพยานผู้เชี่ยวชาญหรือพยานหลักฐานชิ้นไหน

ขณะที่สำนวนสอบสวนมีพยานผู้เชี่ยวชาญการตรวจสารพันธุกรรมเพียงคนเดียวคือ นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ ขณะที่ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ให้การโต้แย้งและกล่าวอ้างพยานผู้เชี่ยวชาญอื่น

2. ประเด็นพยานบุคคล รวม 3 ปาก คือเจ้าหน้าที่อุทยาน กับอดีตนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ที่อัยการเห็นว่าให้การกลับไปมา ไม่น่าเชื่อถือ แต่อัยการเลือกที่จะเชื่อในคำให้การเฉพาะในส่วนที่ว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ปล่อยตัวนายพอละจีไปแล้วหลังจับกุม ซึ่งย้อนแย้งกันเอง และเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงตามพยานหลักฐานในสำนวน

3. ประเด็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์เบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 147 และฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 148 ที่พนักงานอัยการเห็นว่า ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 เอาทรัพย์ของนายพอละจีไป และเห็นว่าผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้ใช้อำนาจข่มขืนใจนั้น

ดีเอสไอเห็นว่า คดีนี้มีพยานบุคคลยืนยันอย่างชัดเจนว่าผู้ต้องหาทั้งหมดได้จับเอาตัวนายพอละจีไปโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ทำบันทึกจับกุม ไม่ทำบัญชีของกลาง ไม่แจ้งสิทธิ ไม่นำตัวนายพอละจีไปที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

แต่ผู้ต้องหาทั้งหมดกลับร่วมกันสร้างเรื่องราวการปล่อยตัวอันเป็นเท็จ ถือเป็นพฤติการณ์อันสำคัญที่ทำให้เห็นว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดมีเจตนาจับเอาตัวไปเพื่อประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกายและเบียดบังเอาทรัพย์สินของนายพอละจีไป

นอกจากนี้พฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาทั้งหมดมีจำนวนคนมากกว่า และมีอาวุธปืนในขณะจับกุมนายพอละจีฯ ย่อมถือเป็นการข่มขืนใจนายพอละจี เข้าข่ายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรา 147 และ 148

4. ประเด็นการกล่าวอ้างคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรี ดีเอสไอเห็นว่า มีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวนายพอละจี ตาม ป.วิอาญา มาตรา 90 ซึ่งประเด็นแห่งคดีเป็นคนละประเด็นกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และคดีฆาตกรรม และในช่วงเวลาดังกล่าวญาติของนายพอละจีซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาไม่สามารถแสวงหาหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า นายพอละจีอยู่ในความควบคุมของผู้ต้องหาทั้งหมดศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้อง มิใช่คำสั่งว่าผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้กระทำผิดอาญาแต่อย่างใด

ความเห็นของพนักงานอัยการที่กล่าวอ้างคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรี โดยไม่ฟังข้อเท็จจริงอันสำคัญที่ได้จากการสอบสวนในภายหลังจึงไม่ถูกต้อง

5. ประเด็นการพิสูจน์การฆ่า ซึ่งพนักงานอัยการอ้างว่าไม่มีประจักษ์พยานเห็นการฆ่า และไม่อาจนำคดีฆ่าพญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ มาเทียบเคียงได้เนื่องจากข้อเท็จจริงไม่ตรงกันนั้น

ดีเอสไอเห็นว่า คดีนี้มีหลักในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาในทำนองเดียวกันกล่าวคือเป็นคดีที่ไม่มีประจักษ์พยานเห็นการฆ่าและไม่พบศพ โดยพิสูจน์การตายด้วยชิ้นเนื้อซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญและมีแพทย์ยืนยันการเสียชีวิต เช่นเดียวกับคดีนี้ที่พิสูจน์การตายโดยชิ้นส่วนกระดูกอันสำคัญโดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันประกอบคำให้การของพยานที่เป็นเครือญาติ

6. คดีนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ยอมให้การโต้แย้งหรือกล่าวอ้างพยานหลักฐานใดในชั้นสอบสวน ทำให้สำนวนคดีทีแต่ข้อเท็จจริงที่รับฟังตามพยานหลักฐานทางการสอบสวน ประกอบด้วย พยานทางวิทยาศาสตร์ พยานบุคคล พยานวัตถุ และพยานเอกสารหลายรายการ โดยพยานส่วนหนึ่งผ่านการพิจารณาของศาลทุจริตและประพฤติมิชอบจนอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมดทุกข้อกล่าวหา คดีจึงสมควรได้รับการพิสูจน์ในชั้นศาล