posttoday

"ยาเสียสาว-เสียหนุ่ม GHB" ภัยมืดที่อาจมากับความสนุก

19 กันยายน 2562

ทำความรู้จัก-วิธีป้องกันยา GHB หรือ ยาเสียสาว-เสียหนุ่ม หลังเกิดเหตุพริตตี้สาวเสียชีวิตปริศนา

ทำความรู้จัก-วิธีป้องกันยา GHB หรือ ยาเสียสาว-เสียหนุ่ม หลังเกิดเหตุพริตตี้สาวเสียชีวิตปริศนา

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. จากกรณีเหตุการณ์คดี น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือ ลัลลาเบล พริตตี้สาวที่เสียชีวิตตายอย่างปริศนาอยู่บริเวณล็อบบี้คอนโด หลังจากที่ นายนายรัชเดช วงศ์ทะบุตร หรือ น้ำอุ่น พริตตี้บอยอุ้มมาวางไว้ โดยหนึ่งข้อสันนิษฐานที่คาดว่าจะเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตของ ลัลลาเบล คืออาจถูกมอมยา GHB หรือ ยาเสียสาว เกินขนาดจนเป็นต้นเหตุนั้น

รศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนรายงานอธิบายเกี่ยวกับยา GHB หรือ ยาเสียสาว ไว้ว่า ชื่อทางการแพทย์คือ gamma-Hydroxybutyric (แกมมา ไฮดรอกซี บูเทอริก) เป็นยาที่มีผลออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ทำให้รู้สึกตื่นตัว สนุกสนาน รวมถึงอยากมีเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันพบระบาดในสถานบันเทิงต่างๆ

สำหรับยาชนิดนี้ ทางการแพทย์จะใช้บ้างเพื่อวางสลบสำหรับผ่าตัด ทำคลอด รักษาโรคบางโรค เช่น โรคง่วงหลับ โรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งต้องมีการใช้อย่างควบคุมโดยแพทย์

ยา GHB มีทั้งชนิดเม็ด ผง และแบบเหลว โดยที่นิยมใช้กันจะเป็นแบบเหลวใส เพราะใช้ง่าย มีรสเค็มเล็กน้อยกลมกลืนกับเครื่องดื่ม ในตลาดมืดจะเรียกว่า Liquid X หรือ Liquid E สามารถผสมกับเครื่องดื่มได้โดยที่ผู้กินจะไม่รู้ว่ามีส่วนผสมของยาชนิดนี้อยู่

สำหรับขั้นตอนการออกฤทธิ์มีดังนี้

1.หากได้รับปริมาณยาไม่มากช่วง 5-10 นาทีแรก จะมีอาการมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เคลื่อนไหวลำบาก

2.หากได้รับปริมาณยาขนาดสูง อาจทำให้เกิดการกดการทำงานของสมอง กดการทำงานของระบบหายใจ หมดสติ หรือเกิดการเสียชีวิตได้

3.หากได้รับร่วมกับยาเสพติดอื่นๆ หรือแอลกอฮอล์ ก็จะทำให้เกิดผลเสียที่มากกว่าหลายเท่า

ขณะที่วิธีป้องกันและหลีกเลี่ยง

1.การป้องกันทำได้ยาก เพราะเราจะสังเกตยากว่ามีส่วนผสมของยา GHB หรือไม่ในเครื่องดื่ม

2.ไม่ไปสถานบันเทิงคนเดียว ควรมีเพื่อนที่ไว้ใจได้ไปด้วย

3.ดื่มแอลกอฮอล์ให้พอดี เพื่อให้มีสติ ไม่เกิดอาการมึนเมา

4.ไม่รับเครื่องดื่มจากคนที่เราไม่รู้จัก

5.ไม่ดื่มเครื่องดื่มอย่างรวดเร็ว หากเราดื่มทีละน้อย จะสังเกตตัวเองได้ว่าเกิดอะไรผิดปกติหรือไม่

6.ไม่ดื่มเครื่องดื่มแก้วเดียวกันกับผู้อื่น

7.ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่อยู่ในภาชนะที่มีปากกว้าง เพราะภาชนะแบบนี้สามารถใส่ส่วนผสมเช่น ยาอันตราย ลงไป ได้ง่าย

8. ไม่ควรละสายตาจากเครื่องดื่มของตัวเอง

ที่มา : https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%81-ghb-%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b8%e0%b9%88%e0%b8%a1-%e0%b9%80%e0%b8%aa/

ภาพปก : ramachannel