posttoday

ฎีกาพิพากษาให้ประกันชดใช้ "ตลาดหลักทรัพย์ฯ" ร่วม 100 ล้าน เหตุม็อบเผาเมืองปี53

01 พฤษภาคม 2562

ศาลฎีกาพิพากษาให้ "6 บริษัทประกัน" ชดใช้ "ตลาดหลักทรัพย์ฯ"ร่วม 100 ล้าน เหตุวางเพลิงระหว่างการชุมนุมการเมืองปี53

ศาลฎีกาพิพากษาให้ "6 บริษัทประกัน" ชดใช้ "ตลาดหลักทรัพย์ฯ"ร่วม 100 ล้าน เหตุวางเพลิงระหว่างการชุมนุมการเมืองปี53

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย.62 ที่ผ่านมา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีประกันภัย หมายเลขดำ 8132/2561 ที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย , บริษัทศูนย์รับฝากทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท แฟมิลี่ โนฮาว จำกัด เป็นโจทก์ที่ 1-3 ยื่นฟ้อง บริษัทนิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์ , บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท ฟอลคอลประกันภัย จำกัด (มหาชน) ,บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดเรื่องประกันภัย

โดยโจทก์ทั้งสาม ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1-3 ทำสัญญาประกันภัยทรัพย์สินที่อยู่ภายในอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไว้กับจำเลยที่ 1-6 คุ้มครองการเสี่ยงภัยทุกชนิด จำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 3,474,408,510.33 บาท ระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.53 - 31 ม.ค.54 โดยจำเลยทั้งหกแบ่งสัดส่วนการรับประกันภัยดังนี้ จำเลยที่ 1 ร้อยละ 30 , จำเลยที่ 2 ร้อยละ 20 , จำเลยที่ 3 ร้อยละ 15 , จำเลยที่ 4 ร้อยละ 15 , จำเลยที่ 5 ร้อยละ 10 , จำเลยที่ 6 ร้อยละ 10

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 มีกลุ่มบุคคลไม่ทราบจำนวน บุกเข้าทุบทำลายและวางเพลิงเผา อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายจากการทุบทำลาย เพลิงไหม้ น้ำที่ใช้ดับเพลิงจากอุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติ โดยโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย 94,107,577.53 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย 380,059 บาท และโจทก์ที่ 3 ได้รับความเสียหาย 14,568,504.27 บาท โจทก์ทั้งสามแจ้งความเสียหายให้จำเลยทั้งหกทราบและแจ้งว่าจะดำเนินการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นตามความจำเป็นและประโยชน์ของการใช้งาน

จำเลยทั้งหกส่งบุคคลผู้มีชื่อสำรวจและประเมินความเสียหายแล้วมีหนังสือแจ้งปฏิเสธความรับผิด เป็นการโต้แย้งสิทธิทำให้โจทก์ทั้งสามเสียหาย โจทก์ทั้งสามบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งหกรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉยไม่ชำระ ซึ่งส่วนของ “ตลาดหลักทรัพย์ฯโจทก์ที่ 1” ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 31,881,197.89 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 28,232,273.26 บาทนับจากวันฟ้อง ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 21,254,131.93 บาท ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 15,940,598.95 บาท ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 15,940,598.95 บาท ให้จำเลยที่ 5 ชำระเงิน 10,627,065.96 บาท ให้จำเลยที่ 6 ชำระเงิน 10,627,065.96 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง

ส่วน “บจก.ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ โจทก์ที่ 2” ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 128,754.10 บาท ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 85,836.07 บาท ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 64,373.04 บาท ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 64,373.04 บาท ให้จำเลยที่ 5 ชำระเงิน 42,918.03 บาท ให้จำเลยที่ 6 ชำระเงิน 42,198.03 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง

สำหรับ “บจก.แฟมิลี่ฯ โจทก์ที่ 3” ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 4,935,430.07 บาท ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 3,290,289.44 บาท ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 2,467,715.03 บาท ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 2,467,715.03 บาท ให้จำเลยที่ 5 ชำระเงิน 1,645,143.35 บาท ให้จำเลยที่ 6 ชำระเงิน 1,465,840.43 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง

โดยจำเลยที่ 1-6 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งหกไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะความเสียหายจากการวางเพลิงเผาอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ และทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามที่อยู่ในอาคารของโจทก์ที่ 1 เกิดจากการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล และเป็นการก่อการร้ายเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยทั้งหกไม่ต้องรับผิดทั้งความเสียหายจากการทุบทำลาย เพลิงไหม้ น้ำที่ใช้ดับเพลิงจากอุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติ และควันไฟมิใช่ภัยเนื่องจากการกระทำอันป่าเถื่อน และกระทำด้วยเจตนาร้ายมุ่งหวังเพื่อทำลายตัวทรัพย์ที่เอาประกันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการกระทำของกลุ่ม นปช. ที่กระทำโดยมุ่งหวังให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง และเป็นการกระทำโดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเป็นสำคัญ โจทก์ทั้งสามเรียกค่าเสียหายสูงเกินส่วนขอให้ยกฟ้อง

ซึ่งคดีนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษายืนให้ยกฟ้อง ต่อมา “โจทก์ที่ 1-3” ได้ยื่นฎีกา

ทั้งนี้ “ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภค” ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ประกอบกิจการตลาดหลักทรัพย์โดยไม่นำผลกำไรมาแบ่งปันกัน จัดให้มีการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน จัดระบบและวิธีการซื้อขายหลักทรัพย์โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดโดยโจทก์ที่ 2 ประกอบกิจการรับฝากหลักทรัพย์ส่วนโจทก์ที่ 3 ประกอบกิจการจัดการงานนิทรรศการการ แสดงสินค้าการฝึกอบรม และประชุมสัมมนา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจดทะเบียน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับหนังสือรับรองให้ประกอบธุรกิจรับประกันวินาศภัย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจรับประกันวินาศภัย

เมื่อวันที่ 31 ม.ค.53 โจทก์ที่ 1-3 ร่วมกับผู้เอาประกันรายอื่นทำสัญญาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เลขที่ 26 ถ.รัชดาภิเษก แขวง-เขตคลองเตย กทม. (รวมฐานราก) ที่จอดรถ สิ่งต่อเติมต่าง ๆ กำแพงประตู รั้วตลอดแนว เฟอร์นิเจอร์สิ่งตกแต่งต่าง ๆ อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทุกชนิดระบบปรับอากาศและระบบอื่น ๆ เครื่องจักร และอุปกรณ์ทุกชนิด ระบบลิฟท์ เสาอากาศและระบบสัญญาณวิทยุ ระบบโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในสถานที่เอาประกันภัยรวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ และทรัพย์สินอื่น ๆ ทุกชนิดในอาคารดังกล่าวไว้ต่อจำเลยทั้งหก โดยคุ้มครองการเสี่ยงภัยทุกชนิดระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. 53-31 ม.ค.54 จำนวนเงินเอาประกันภัย 3,474,408,510.33 บาท

จำเลยทั้งหกแบ่งสัดส่วนการรับประกันภัยตามลำดับ โดยกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อยกเว้นความรับผิดว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความเสียหายอันเป็นผลโดยตรงหรือโดยอ้อมมาจาก หรือสืบเนื่องมาจากการก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล การกบฏ การปฏิวัติ การยึดอำนาจการปกครองโดยทหาร หรือการก่อการร้ายโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการผู้ก่อการร้ายที่ใช้กำลังอย่างรุนแรงเพื่อผลทางการเมืองและรวมถึงการใช้กำลังอย่างรุนแรงเพื่อสร้างความหวาดกลัวแก่สาธารณชนตามกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

โดยระหว่างวันที่ 12-19 มี.ค.53 มีเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อประท้วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ ลาออกจากตำแหน่งหรือยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ มีการตั้งเวทีใหญ่บริเวณแยกราชประสงค์ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง และมีการตั้งเวทีย่อยบริเวณแยกคลองเตยใกล้อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีการปิดการจราจรบนถนนรอบพื้นที่การชุมนุมทุกแห่งการชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53

รัฐบาลส่งกำลังทหารสลายการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์และได้เกิดเหตุเพลิงไหม้สถานที่หลายแห่งรวมทั้งอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายโจทก์ทั้งสาม จึงได้แจ้งเหตุความเสียหายต่อจำเลยทั้งหก ซึ่งจำเลยทั้งหกมอบให้บริษัท แม็คลาเรนส์ (ประเทศไทย) จำกัด สำรวจความเสียหายจากเหตุดังกล่าว แล้วปฏิเสธความรับผิด อ้างว่าเหตุความเสียหายเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ทั้งสามบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งหกรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉยไม่ชำระ

คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งสามได้รับอนุญาตให้ฎีกา ประการแรกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเกิดจากภัยประเภทใดและเป็นภัยที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยตามฟ้องหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าเหตุความเสียหายต่อทรัพย์สินตามฟ้องเป็นผลมาจากมีกลุ่มบุคคลบุกรุกเข้าไปในอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและก่อให้เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารจนทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามที่อยู่ภายในอาคารและตัวอาคารดังกล่าวได้รับความเสียหาย ความเสียหายดังกล่าวจึงเป็นภัยที่เกิดจากเหตุเพลิงไหม้และการกระทำด้วยเจตนาร้ายซึ่งเป็นภัยที่อยู่ภายใต้ความ คุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

ขณะที่ทางนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายรับฟังได้ว่าเหตุเพลิงไหม้อาคารเกิดขึ้นตอน 15.00 น. ภายหลังแกนนำประกาศยุติชุมนุมตอน 13.00 น. ตลอดจนผู้ก่อเหตุทุบทำลายและเผาอาคารก็มีประมาณ 10 คน ทั้งเป็นกลุ่มบุคคลที่ปิดบังอำพรางใบหน้า และกลุ่มที่ทำในลักษณะมีเจตนาก่อเหตุร้ายแล้วหลบหนีไปทันที โดยไม่มีประชาชนอื่นใดร่วมกระทำการ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งหกไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่าเหตุเพลิงไหม้ตามฟ้องเป็นผลมาจากการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาล และเป็นการก่อการร้ายเพื่อหวังผลทางการเมืองตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งหก ดังนั้นจำเลยทั้งหกจึงไม่อาจอ้างข้อยกเว้นความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันความสี่ยงภัยทรัพย์สิน

ส่วนจำเลยที่ 1-6 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1-3 เพียงใด ข้อนี้โจทก์ทั้งสามนำสืบความเสียหายของโจทก์แต่ละรายไว้แล้ว พร้อมตารางสรุปจำนวน โดยโจทก์มิได้นำสืบแสดง รายละเอียดความเสียหายตามที่กล่าวอ้างในแต่ละรายการ แต่กลับปรากฏความเสียหายบางรายการไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากวินาศภัยภายใต้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งตามคำเบิกความของเจ้าหน้าที่วิศวอาคารและหัวหน้าช่างซ่อมบำรุงอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ พยานโจทก์ระบุว่าทรัพย์สินบางรายการ เช่น พรม หรือเฟอร์นิเจอร์อาจไม่ต้องซ่อมแซมเพียงแต่ทำความสะอาดก็สามารถใช้งานได้เหมือนเดิม และเมื่อจำเลยทั้งหกสู้ว่าโจทก์ทั้งสามเรียกค่าเสียหายสูงเกิน

“ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคก็มีอำนาจกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์ จึงเห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 89 ล้านบาท ส่วนโจทก์ที่ 2 ที่เรียกร้องค่าเสียหายเป็นค่าซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 8 ชุด ซึ่งเป็นความเสียหายที่ไม่อยู่ในความคุ้มครองตามกรมธรรม์ฯ ส่วนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนผ้าหุ้มเก้าอี้พนักงาน จำนวน 13,209 บาท ก็ไม่มีหลักฐานการชำระเงิน คงมีเฉพาะส่วนที่จำเลยทั้งหกได้นำสืบยอมรับค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 มีเพียง 50,414 บาท ดังนั้นศาลจึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 57,500 บาท ส่วนโจทก์ที่ 3 ศาลเห็นควรกำหนดค่าเสียหายจำนวน 9 ล้านบาท

และเมื่อปรากฏว่าหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคาร พวกโจทก์ได้มีหนังสือเรียกร้องค่าสินไหม และหนังสือแจ้งปรับปรุงข้อมูลความเสียหายให้จำเลยทั้งหกชำระ แต่พวกจำเลยมีหนังสือแจ้งปฏิเสธความรับผิด โจทก์ทั้งสามขอให้บังคับจำเลยทั้งหกรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ไม่ใช่ผู้กระทำละเมิด เมื่อวันที่ 4 ม.ค.54 จึงถือว่าจำเลยทั้งหกผิดนัดชำระตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.54 จึงต้องได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันดังกล่าว ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามมานั้น ศาลฎีกาฯ ไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ 26.7 ล้านบาท จำเลยที่ 2 ชดใช้ 17.8 ล้านบาท จำเลยที่ 3 ชดใช้ 13,350,000 บาท จำเลยที่ 4 ชดใช้ 13,350,000 บาท จำเลยที่ 5 ชดใช้ 8.9 ล้านบาท จำเลยที่ 6 ชดใช้ 8.9 ล้านบาทให้ “ตลาดหลักทรัพย์ฯ โจทก์ที่ 1” พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 4 ม.ค.54 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ 17,250 บาท จำเลยที่ 2 ชดใช้ 11,500 บาท จำเลยที่ 3 ชดใช้ 8,625 บาท จำเลยที่ 4 ชดใช้ 8,625 บาท จำเลยที่ 5 ชดใช้ 5,750 บาท จำเลยที่ 6 ชดใช้ 5,750 บาทให้กับ “บจก.ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ โจทก์ที่ 2” พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 4 ม.ค. 2554 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ 2.7 ล้านบาท จำเลยที่ 2 ชดใช้ 1.8 ล้านบาท จำเลยที่ 3 ชดใช้ 1,350,000 บาท จำเลยที่ 4 ชดใช้ 1,350,000 บาท จำเลยที่ 5 ชดใช้ 900,000 บาท จำเลยที่ 6 ชดใช้ 900,000 บาท ให้กับ “บจก.แฟมิลี่ฯ” โจทก์ที่ 4 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 4 ม.ค.54 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ