posttoday

27 ปีสู่ พรบ.ป่าชุมชนช่วยพลิกฟื้นป่า-ชาวบ้านดูแล

28 กุมภาพันธ์ 2562

หลังสนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน หลังจากนี้น่าติดตามว่าเมื่อประกาศใช้กฎหมาย จะสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างแท้จริงยั่งยืนเพียงใด

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ในความพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ตั้งแต่ปี 2535 นับอดีตจนปัจจุบันรวมระยะเวลากว่า 27 ปี ที่หลายฝ่ายพยายามสร้างความหวังให้มีกฎหมายช่วยส่งเสริมให้ชุมชนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และดูแลป่าชุมชนในพื้นที่ใกล้หมู่บ้าน ตอนนี้เองนับว่าเป็นอีกมิติเกี่ยวกับป่าชุมชน เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ในวาระเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปหลังจากนี้น่าติดตามว่าเมื่อประกาศใช้กฎหมาย จะสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างแท้จริงยั่งยืนเพียงใด

ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ย้อนเล่าว่า ในอดีตป่ากับชุมชนอยู่เคียงคู่กันมาตลอด นั่นทำให้ชาวบ้านในชุมชนต้องการมีสิทธิช่วยดูแลป่า แต่ติดปัญหาคือชาวบ้านที่อยู่กับป่ามักมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากอดีตพื้นที่ป่าสงวน เป็นพื้นที่สงวนไว้ให้ผู้มาขออนุญาตทำไม้ ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านเคยอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้นและเคยใช้ประโยชน์ กลับถูกใช้เป็นพื้นที่สัมปทาน ทำให้พื้นที่ส่วนนี้เกิดความขัดแย้ง

จุดนี้เองจึงกลายเป็นความพยายามของชาวบ้านที่ต้องการเรียกร้องให้เกิดป่าชุมชนขึ้นมา เพื่อดูแลใช้ประโยชน์ ถือเป็นการต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2535 และทุกคนเห็นตรงกันว่าควรมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน เข้ามาช่วยให้ชุมชนมีสิทธิมีส่วนช่วยดูแลรักษา

ภาณุเดช กล่าวว่า ในห้วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2535 เกิดมุมมองความแตกต่างกันในเรื่องของป่าชุมชนว่าควรอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ในพื้นที่ป่าสงวน หรือในป่าชุมชน สามารถทำไม้เหมือนอย่างป่าเศรษฐกิจที่มีการขอสัมปทานได้หรือไม่ จึงเกิดความไม่ลงตัวในหลายประเด็น กระบวนการถกเถียงนำพาไปสู่ชุมชนได้เรียนรู้หันมาทดลองทำเอง จึงเริ่มเกิดป่าชุมชนในหลายชุมชนผ่านการดูแลบริหารจัดการกันเองของชาวบ้าน แม้ว่าช่วงแรกภาครัฐจะไม่ยอมรับเกิดการต่อสู้เรื่อยมา

"กระทั่งกระแสป่าชุมชนแรงขึ้นการทำงานของชาวบ้านเห็นผลและได้ประโยชน์มากขึ้น รัฐจึงเข้าไปช่วยเหลือนำมาตรการขออนุญาตเข้าไปเจรจา โดยให้เขียนโครงการขึ้นมาเสนอขออนุญาตเป็นป่าชุมชน นั่นคือการขออนุญาตในการใช้ประโยชน์ แต่ไม่ได้มีสิทธิบริหารจัดการของชาวบ้าน" ภาณุเดช กล่าว

เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ทัศนะว่า เมื่อตอนนี้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. ... ออกมาแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่ชุมชนได้สร้างสิทธิของตัวเอง วันนี้แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านเหล่านั้นควรจะได้ในสิ่งที่ควรได้แล้ว ตัว พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับนี้จะให้อำนาจชุมชนในการดูแล บริหารจัดการพื้นที่ การใช้ประโยชน์ ที่เข้ามาเติมเต็มเพิ่มขึ้น ส่วนตัวมองว่าเป็นประโยชน์กับชุมชนชาวบ้าน

สำหรับอนาคตเรื่องของพื้นที่ป่าชุมชนจะมีความชัดเจนเพิ่มขึ้น ยังช่วยลดความขัดแย้งระหว่างผู้บุกรุกที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์ทรัพยากรในบริเวณนั้น อีกทั้งยังได้รับการปกป้องมากขึ้น ทั้งเรื่องนายทุน กลุ่มผู้มีอิทธิพล ฯลฯ ถัดมาเรื่องป่าชุมชนจะคลี่คลายประเด็นที่ชุมชนใช้ประโยชน์ในเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิตดั้งเดิมอย่างชัดเจนเช่นเดียวกันอีก

ภาณุเดช แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับป่าชุมชนว่า 1.ป่าชุมชนที่ผ่านการจัดทำข้อมูลของกรมป่าไม้ จะมีประมาณ 2 ใน 3 ที่อยู่ระหว่างขอจัดตั้งและอยู่ระหว่างจัดตั้งของพื้นที่ทั้งหมดทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มที่ไม่ได้เข้ากระบวนตามขั้นตอน เนื่องจากอาจมีความรู้สึกไม่มีความจำเป็นต้องขออนุญาต หรือชุมชนอยู่ในพื้นที่การใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เช่น พื้นที่ของกรมธนารักษ์ พื้นที่ทหาร ฯลฯ แต่มีการทำเรื่องป่าชุมชน

แม้ว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับนี้ จะเปิดโอกาสให้ขออนุญาตทำโครงการป่าชุมชนในพื้นที่อื่นได้นอกเหนือจากพื้นที่กรมป่าไม้ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวถือว่ายาก ทางกรมป่าไม้คงต้องเข้ามาช่วยในการจัดการ หรือทำกิจกรรมบ้างประเภทได้

อีกประเด็น 2.หลังจากนี้กรมป่าไม้ต้องปรับบทบาทหน้าที่ โครงสร้างการทำงานครั้งใหญ่ เพื่อรองรับการทำงานภายใต้ พ.ร.บ.ป่าชุมชนเนื่องจากที่ผ่านมากรมป่าไม้ มีเครื่องมือค่อนข้างจำกัด รวมถึงการบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยในกรมป่าไม้ ควรให้มีฐานข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันและตรงกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าตะวันพบปัญหาลักษณะนี้เยอะมาก เกรงอาจเกิดความขัดแย้งในบางประเด็นของพื้นที่ได้

"การขอจัดตั้งป่าชุมชนต้องรวดเร็วกว่านี้ ไม่ใช่แช่นานหลายเดือน บางจุดใช้เวลานานนับปี มันไม่ทันไม่ตอบโจทย์ต่อการเข้าไปจัดการทรัพยากร หากล่าช้าเช่นนี้จะไม่สอดรับกัน ข้อมูลทุกอย่างต้องเป็นหนึ่งเดียว รู้ว่าส่วนไหน เป็นพื้นที่ป่าชุมชนดูแล เจ้าหน้าที่จะเข้าไปเสริมอย่างไร" ภาณุเดช ระบุเลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ทิ้งท้ายว่า ในอนาคตเรื่องทัศนคติ บทบาทในการทำร่วมกันระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ต้องปรับเปลี่ยนไปแน่นอน ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องการปรับระบบฐานข้อมูล ทัศนคติการทำงานให้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวอีกต่อไป วันนี้กรมป่าไม้เปลี่ยนไปแล้วต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์