posttoday

พายุ "ปาบึก" แรงสุดในรอบ 57 ปี สั่งอพยพชายฝั่งอ่าวไทย

03 มกราคม 2562

เทียบพายุโซนร้อนปาบึกใกล้เคียงพายุแฮเรียตที่เคยเข้าที่แหลมตะลุมพุกเมื่อปี 2505 ขณะที่จังหวัดภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือ

อธิบดีกรมอุตุฯเผยพายุโซนร้อนปาบึกเทียบเท่าพายุแฮเรียตที่เคยเข้าที่แหลมตะลุมพุกเมื่อปี 2505 ขณะที่จังหวัดภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือ

*********************************

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) กำลังก่อตัวอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 6.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.7 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง พายุลูกนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน เวียดนาม และเคลื่อนลงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 2-3 ม.ค.

โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ในช่วงวันที่ 3-5 ม.ค. ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทำให้ 16 จังหวัดภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากพายุดังกล่าวและจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะพายุได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อนและกำลังเคลื่อนลงอ่าวไทยตอนล่าง ที่ผ่านมาภาคใต้ไม่เคยเจอพายุโซนร้อนมานานแล้ว จะเจอก็แค่พายุดีเปรสชัน หรือหย่อมความกดอากาศต่ำเท่านั้น

ภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ถ้าเทียบระดับพายุโซนร้อนปาบึก ที่เคยมีผลกระทบกับภาคใต้ของไทย น่าจะเท่ากับพายุแฮเรียตที่เคยเข้าที่แหลมตะลุมพุก (ปี 2505) อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามเป็นรายชั่วโมงว่าปาบึกจะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชันเมื่อขึ้นฝั่งหรือไม่ แต่ก็ยังทำให้มีฝนตกและอาจเกิดน้ำท่วมในวงกว้างได้ ขณะที่การเตรียมรับมือพายุแฮเรียตในตอนนั้นกับตอนนี้แตกต่างกัน ระบบการเตรียมตัวจะมีความพร้อมและรวดเร็วกว่า

ภูเวียง กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้แจ้งไปยังหน่วยงานระดับท้องถิ่น 16 จังหวัดฝั่งอ่าวไทย และท้องถิ่นที่มีการคาดการณ์ว่าพายุปาบึกจะเคลื่อนตัวเข้าฝั่งอ่าวไทยในช่วงวันที่ 4 ม.ค.นี้ ให้พร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักและคลื่นลมแรง และภาวะน้ำท่วม ซึ่งไม่อยากให้เกิดความแตกตื่นมาก

ทั้งนี้ พายุปาบึกเป็นพายุโซนร้อนลูกแรกที่จะพัดเข้าอ่าวไทยในช่วง 50 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงเดือน ธ.ค. 2561 มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่พัฒนาเป็นดีเปรสชันเคลื่อนเข้าภาคใต้ แต่ยังไม่พัฒนาเป็นพายุโซนร้อน

“กรณีที่จะมีพายุเข้ามาในช่วงเดือน ม.ค. ก็ไม่ถือเป็นเรื่องปกติ ผิวหน้าน้ำทะเลอุ่น อุณหภูมิของน้ำมันอุ่น แต่ยังไม่สามารถบอกสาเหตุที่ทำให้พายุเคลื่อนตัวเข้าอ่าวไทยในช่วงเดือนนี้” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าว

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้อ่าวไทย โดยเฉพาะ จ.สุราษฎร์ธานี และชุมพรตอนใต้ เตรียมรับมือพายุ “ปาบึก” และอย่าประมาทเด็ดขาด

“เราแทบไม่เคยเจอไต้ฝุ่นหรือพายุแรงๆ เพราะอ่าวไทยไม่ได้อยู่ในเส้นทางประจำของพายุ ผิดกับหลายประเทศเพื่อนบ้านที่โดนกันมาปีละหลายลูก เมื่อไม่คุ้นเคย การเตรียมการรับมืออาจไม่ถนัดเหมือนเจอประจำ พื้นที่แต่ละแห่งยังเสี่ยงไม่เท่ากัน"

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวอีกว่า ปกติพายุจะแรงในทะเล เมื่อขึ้นฝั่งจะเบาลงอย่างเร็ว ตอนนี้ปาบึกอยู่ในทะเล และจากจุดนั้นจนถึงในอ่าวไทย ไม่มีแผ่นดินใดขวางกั้น พายุในช่วงเข้าอ่าวไทย ซึ่งไม่มีใครทำนายได้ว่ามีความรุนแรงแค่ไหน แต่ดูจากแนวโน้มเส้นทางของพายุจะขึ้น
กับลมหนาวที่มาจากเหนือ หากลมแรงพายุจะลงล่างหน่อย ตอนนี้ลมหนาวเริ่มเบาลง เส้นทางพายุทแยงขึ้นเหนือ มีแววว่าใจกลางพายุอาจผ่านแถวสมุย-พะงัน ก่อนเข้าไปที่สุราษฎร์ธานี และชุมพรตอนใต้

แบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) แจ้งว่า พายุปาบึกยังเป็นพายุโซนร้อนที่มีความเร็วลมอยู่ที่ 35 นอต/ชั่วโมง หรือประมาณ 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่คาดว่าเมื่อพายุ
หันหน้าเข้าสู่บริเวณอ่าวไทยความเร็วลมจะเพิ่มขึ้น ซึ่งศูนย์อุตุนิยมวิทยาของประเทศญี่ปุ่นคำนวณไว้อยู่ที่ 55 นอต หรือราว 90-95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งความเร็วลมดังกล่าวยังอยู่ในช่วงของพายุโซนร้อนอยู่

แต่เมื่อเปรียบเทียบความเร็วลมแล้วพบว่ามีความใกล้เคียงกับพายุโซนร้อนแฮเรียตที่เกิดขึ้นที่บริเวณแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2505 ซึ่งความเร็วลมของพายุแฮเรียตขณะนั้นอยู่ที่ 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วลมขนาดดังกล่าวอาจจะทำให้เสาไฟฟ้าโค่นหักลงได้ ซึ่งการทวีความรุนแรงขึ้นดังกล่าว เป็นเหตุให้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเปลี่ยนความรุนแรงของคลื่นจากสูง 2-4 เมตร เป็น 3-5 เมตร

“กรณีของพายุโซนร้อนปาบึกนี้ จะมีพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก และเฝ้าระวังสูงสุด 3 พื้นที่ คือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยมีฝนตกในช่วง 200-300 มิลลิเมตร/วัน ในวันที่ 4-5 ม.ค. และอาจจะทำให้บางพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมอยู่ที่ 400-500 มิลลิเมตรได้” วาฟ ระบุ

พายุ "ปาบึก" แรงสุดในรอบ 57 ปี สั่งอพยพชายฝั่งอ่าวไทย

ขณะที่รัฐบาล ได้สั่งการให้ทุกหน่วยระดมกำลังพล เครื่องจักรกลหนักเตรียมพร้อมรับมือพายุลูกนี้ รวมทั้งแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานในการขับเคลื่อน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า จากการประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยา จากอิทธิพลพายุโซนร้อนจะทำให้ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 5 เมตร จึงได้สั่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รับมือทุกด้าน โดยเฉพาะไฟฟ้า และการระบายน้ำหากมีฝนตกหนักพร้อมระบายน้ำทันที ส่วนระบบเตือนภัยนั้นไม่มีปัญหา เพราะไทยมีทั้งระบบและบุคลากรที่ดีมากในระดับอาเซียน แต่สาธารณภัยที่จะเกิดขึ้นจะรุนแรงหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับธรรมชาติว่าจะหนักเพียงใด

ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เร่งพร่องน้ำออกจากลำน้ำต่างๆ ทำให้ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2-3 เมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับน้ำจากฝนที่ตกลงในพื้นที่ สำหรับเขื่อนต่างๆ ได้ระบายน้ำออกจากเขื่อนไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมีทั้งพื้นที่เกษตร พื้นที่เศรษฐกิจ และเขตเมือง หากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมเครื่องสูบน้ำ 453 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 300 ชุด เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 82 เครื่อง รถขุด รถแทรกเตอร์ 108 คัน รถบรรทุก ยานพาหนะ 324 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ 245 หน่วย สะพานเหล็กแบบถอดประกอบได้ 1 ชุด ซึ่งสำรองไว้ที่ภาคใต้แล้ว เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยได้อย่างรวดเร็วทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดภาคใต้ได้สั่งเตรียมรับมือพายุโซนร้อนตลอด 24 ชั่วโมง เช่นที่ จ.นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ได้สั่งทุกอำเภอตั้งศูนย์บัญชาการรับมือภัยพิบัติเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้

“นครศรีธรรมราชมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยยาวมากกว่า 235 กม. ยาวที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วย อ.ขนอม สิชล ท่าศาลา เมือง ปากพนัง เชียรใหญ่ และหัวไทร ซึ่งประสบภัยคลื่นซัดถล่มรุนแรงเกือบทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ปากพนัง ซึ่งเป็นทะเลหน้าตรงโดนคลื่นพัดถล่มเข้าหาฝั่งตรงๆ จึงรุนแรงมากกว่าพื้นที่อื่นๆ อย่างไรก็ตามหลังจากมีการก่อสร้างแนวกันคลื่นเกือบตลอดแนวชายฝั่งตั้งแต่ ต.แหลมตะลุมพุก ปากพนังฝั่งตะวันออก บางพระ บ้านเพิง ท่าพญา และขนาบนาค สามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และชะลอความแรงของคลื่นได้เป็นอย่างดี” จำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผวจ.นครศรีธรรมราช กล่าว

นอกจากนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลและบริเวณเทือกเขา เจ้าหน้าที่ได้สั่งอพยพไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ส่วนผู้ประกอบการเรือประมงทั้งภาคใต้หลายหมื่นลำจอดเรือขึ้นฝั่งหมดแล้วเพื่อความปลอดภัย 

พายุ "ปาบึก" แรงสุดในรอบ 57 ปี สั่งอพยพชายฝั่งอ่าวไทย