posttoday

"แม่น้องเกด"เล็งฟ้องอัยการ-ดีเอสไอหลังคดีลูกถูกยิงล่าช้า

04 ธันวาคม 2561

"แม่น้องเกด"เล็งฟ้องอัยการ-ดีเอสไอ หลังคดีลูกถูกยิงยือเยื้อมา 8 ปี แต่คนทำผิดยังไม่ถึงศาล รองโฆษกอัยการ แจงคดีอาจสอบสวนหาหลักฐานเพิ่ม

"แม่น้องเกด"เล็งฟ้องอัยการ-ดีเอสไอ หลังคดีลูกถูกยิงยือเยื้อมา 8 ปี แต่คนทำผิดยังไม่ถึงศาล รองโฆษกอัยการ แจงคดีอาจสอบสวนหาหลักฐานเพิ่ม

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. นางพะเยาว์ และ นายณัฐภัทร อัคฮาด แม่-พี่ชายของ น.ส.กมนเกด หรือน้องเกด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตเป็น 1 ใน 6 ศพวัดปทุมวนารามช่วงการสลายชุมนุม นปช. เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดี ภายหลังศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพบุตรสาว ตั้งแต่ปี 2556 โดยฝั่งอัยการ มี นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้แทนรับหนังสือแทน

นางพะเยาว์ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่มายื่นหนังสือทวงถามคดี เนื่องจากทราบว่าคดีการเสียชีวิตของบุตรสาวนั้นอยู่ในการพิจารณาของพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ โดยศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการไต่สวนชันสูตรพลิกศพมาแล้วตั้งแต่ ปี 2556 แต่กลับรู้สึกว่า คดีความมีความล่าช้ามานานเกินไป ดั่งคำที่ว่าความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม ทำให้ตนต้องดิ้นรนมา ซึ่งคดีมาอยู่ในมืออัยการแล้วแต่ยังไม่มีการยื่นฟ้องต่อศาล อีกทั้งยังมีข่าวปรากฏตามสื่อมวลชนว่าในสำนวนที่มีคนเจ็บได้มีการถูกทำให้เป็นสำนวนมุมดำหรือยุติการสอบสวนไปแล้ว และในสำนวนที่มีคนเสียชีวิตก็จะถูกทำให้เป็นสำนวนมุมดำเช่นกัน เราจึงสงสัยว่าอัยการมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หรือถูกผู้มีอำนาจและนายพล เข้าแทรกแซงให้ยุติการสอบสวน วันนี้ตนจึงมาขอความชัดเจนในเรื่องนี้

ขณะที่ นายธรัมพ์ รองโฆษกอัยการฯ กล่าวว่า สำนักงานอัยการสูงสุดโดยสำนักงานคดีพิเศษ ได้แบ่งคดีสลายการชุมนุมเป็น 3 กลุ่มคร่าวๆ ซึ่งข้อมูลอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กลุ่มที่ 1. กลุ่มที่ได้มีการยื่นไต่สวนชันสูตรพลิกศพและศาลได้ชี้เหตุแห่งการตายแล้ว 2.กลุ่มที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนอยู่ดีเอสไอ 3.กลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นกว่า 2,000 ราย

ส่วนที่นางพะเยาว์ ระบุว่าสำนวนคดีชันสูตร 6 ศพวัดปทุมฯ อยู่ในมืออัยการนั้น ข้อเท็จจริงสำนวนเหล่านี้ดีเอสไอเคยส่งมายังพนักงานอัยการแล้วจริง โดยอัยการก็ได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพจนศาลมีคำสั่งชี้สาเหตุการตายไปหลายคดี ซึ่งในคดีที่ศาลมีคำสั่งว่าการกระทำให้เสียชีวิตเกิดจากฝั่งเจ้าหน้าที่สำนวนถูกส่งกลับไปยังดีเอสไอเพื่อดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานกล่าวหาผู้กระทำผิด ซึ่งเท่าที่เราตรวจสอบพบว่าปัจจุบันเรื่องยังอยู่ที่ดีเอสไอที่ยังดำเนินการอยู่ โดยยังไม่ได้ส่งกลับมาอัยการในรูปแบบไหนไม่ว่าจะเป็นเรื่องสำนวนมุมดำหรือรูปแบบปกติ

นางพะเยาว์ ได้ถามย้ำกับ นายธรัมพ์ อีกว่าหากสำนวนยังไม่ส่งมาอัยการ แปลว่าอยู่ที่ดีเอสไอ ซึ่งต้องไปตามที่ดีเอสไอใช่หรือไม่ หรืออัยการสามารถเร่งรัดได้หรือไม่

ซึ่งประเด็นนี้ นายธรัมพ์ กล่าวว่า ใช่ โดยสำนักงานอัยการก็มีการเร่งรัดเราประสานทางดีเอสไออยู่และจะประสานไปอีกครั้ง ส่วนที่ระบุว่ามีการทำเป็นสำนวนมุมดำนั้นอัยการยังไม่เห็นและยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว

เมื่อถามถึงสำนวนไต่สวนชันสูตรศพอื่นๆ เช่นคดีของนายพัน คำกอง ที่ศาลมีคำสั่งเป็นคดีแรก มีการทำสำนวนสอบสวนส่งมายังอัยการสำนักงานคดีพิเศษแล้วหรือไม่ นายธรัมพ์ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่ายังไม่ส่งมา ส่วนสาเหตุที่ดีเอสไอยังไม่ส่งสำนวนนายพัน ก็อาจจะมีประเด็นที่ต้องไปสืบหาสาเหตุการตายให้ละเอียดเช่นว่า ศาลชี้ว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ไปสืบว่าใครเป็นผู้ลงมือ

ส่วนที่ดีเอสไอได้แถลงว่าอัยการเคยมีความเห็นว่า คดีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นกลุ่มเดียวกับที่ศาลฎีกาเคยชี้ว่าคดีกล่าวหาเรื่องการสั่งการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ. เป็นอำนาจ ป.ป.ช. พนักงานอัยการจึงให้ดีเอสไอ นำสำนวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ส่งไปยัง ป.ป.ช.ด้วย

นายธรัมพ์ กล่าวว่า คดีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่เป็นอำนาจ ป.ป.ช.ดำเนินการ จึงให้ส่งสำนวนไปโดยคดีนั้นยังไม่ได้ชี้ว่าใครผิดใครถูก แต่หากเป็นสำนวนที่ดีเอสไอได้สอบสวนและมีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วก็จะส่งมาอัยการ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาก่อนว่าจะมีคำสั่งอย่างไร จะส่งฟ้องศาลหรือเป็นอำนาจ ป.ป.ช. ซึ่งตนไม่ทราบว่าทางดีเอสไอ ขณะนี้ดำเนินการในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร ทราบแต่สำนวนที่มีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพเท่านั้นโดยที่ผ่านมาศาลบอกว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.

นางพะเยาว์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังด้วยว่า กรณีนี้ เหมือนเป็นการโยนกันไปโยนกันมา อัยการบอกทางดีเอสไอยังไม่ได้ส่งมา วันนี้ที่ตนมาหมดเวลาของการร้องขอแล้ว โดยตนจะไปปรึกษาทนายความว่าจะดำเนินการฟ้องร้องอัยการกับดีเอสไอที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดองคดีทั้งหมด ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

“เขาต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่นิ่งเฉย ถึงจะรู้ว่าตอนนี้ดีเอสไอไม่เหมือนเก่า เจ้าหน้าที่สอบสวนชุดเดิมที่เคยสอบสวนตั้งแต่ปี 2553 ถูกย้ายออกหมดตั้งแต่ที่มีการรัฐประหาร ตอนนี้เขากุมอำนาจหมด คดีที่ควรจะเป็นไปก็ถูกกักดองไว้ พูดตลอดเวลาเรื่องกระบวนการยุติธรรม เรื่องกฎหมาย ก็ถึงเวลาที่ตนจะใช้กฎหมายจัดการบ้าง” นางพะเยาว์ กล่าว

นอกจากนี้ถ้าเป็นไปได้จะดูรูปแบบของกระบวนการยุติธรรม การฟ้องเองต้องรอให้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งก่อน คิดว่าความจริงหลักฐานมีเยอะมาก แต่ว่าหลักฐานทุกอย่างถูกบังคับให้ปิดปากเงียบ เอกสารทุกอย่างถูกบังคับให้อยู่ในลิ้นชักปิดล็อกกุญแจ แต่คิดว่าถ้าคดีโผล่ขึ้นมาตอนนี้ใครจะเดือดร้อน ข้อมูลที่ศาลให้มาทุกอย่างชัดเจนหมด ระบุหน่วยงาน แค่ไม่ได้ระบุชื่อใครยิง

ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้สอบถามอัยการและดีเอสไอ ในประเด็นเดียวกันไปก่อนหน้านี้ ก็เป็นคนละส่วนกันกับตน ต่างคนต่างทำ ตนสู้มา 8 ปี เดินอยู่แค่นี้ บอกเลยว่าคดีปี 2553 เป็นคดีที่มีคนตายมากที่สุด ตนเรียกว่าพฤษภาเลือด ที่ออกมาสู้เองเพราะความเจ็บปวดที่ได้รับจากทุกฝ่ายที่ได้กระทำกับเรา การหาความจริงขึ้นมาเป็นผลดีที่สุดกับทุกฝ่าย ไม่ต้องมาใช้คำว่าชายชุดดำ คนนั้นคนนี้ก่อการร้าย จะได้เอาความจริงขึ้นมา

ด้าน นายณัฐภัทร อัคฮาด น้องชายของ น.ส.กมนเกด กล่าวด้วยว่า กองทัพก็พูดตลอดคนที่ตายเป็นฝีมือชายชุดดำ ฉะนั้นกองทัพควรมาร่วมมือกันหาทางออกเรื่องนี้ให้เร็วที่สุดว่าตกลงใครทำให้ตาย เพราะทหารก็เสียชีวิตเหมือนกัน ไม่มีใครควรตายในเหตุการณ์นี้ ถ้าทหารจริงใจที่จะหาคำตอบก็ควรจะร่วม ไม่ใช่ดึงให้ล่าช้าขนาดนี้

ส่วนประเด็นที่เราขอให้กระทรวงกลาโหม สอบนายพลลึกลับที่เข้ามาแทรกแซงนั้น ทราบว่าสำนักนายกฯ มีหนังสือว่า เรื่องนี้กระทรวงกลาโหม จะตั้งคณะกรรมการค้นหาบุคคลดังกล่าว แต่ถ้าหาตัวไม่ได้ตนก็จะฟ้องกระทรวงกลาโหม มาตรา 157 ด้วยเช่นกัน