posttoday

Non-Degree เปิดสอนคนทั่วไป ทางออกมหา’ลัยในห้องร้าง

20 พฤศจิกายน 2561

คาดการณ์กันว่า ในอนาคตมหาวิทยาลัยทุกแห่งจะประสบปัญหามีผู้เรียนลดจำนวนลง

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

แนวโน้มที่คาดการณ์กันว่า ในอนาคตมหาวิทยาลัยทุกแห่งจะประสบปัญหามีผู้เรียนลดจำนวนลง หลายแห่งจึงเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ด้วยการนำระบบการเรียนแบบออนไลน์มาช่วย เพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน เปิดสาขาวิชาทางเลือกเฉพาะกลุ่ม และหันไปสอนหลักสูตรระยะสั้นให้คนในวัยทำงาน หรือกระทั่งคนในวัยเกษียณมากขึ้น หรือเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาเรียน เข้ามาสังเกตการณ์การเรียนการสอนในบางวิชา

ภัทรชาติ โกมลกิติ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่กำลังปรับตัวให้เป็นหน่วยบริการด้านวิชาการให้ประชาชนมากขึ้น เพราะตระหนักว่าการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่เป็นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด เรียนรู้ตลอดชีวิต

เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาหลายคณะวิชาเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าไปนั่งเรียนกับนิสิตนักศึกษาภาคปกติได้ เพราะจุฬาฯ มีการปรับเปลี่ยนขยายโอกาสในการเรียนรู้ให้ประชาชนทุกคนที่อยากเรียนรู้ในบางเรื่อง แม้จะไม่ได้เป็นนักศึกษา แต่ในส่วนที่รับผิดชอบอยู่ คือ การผลิตเนื้อหาออนไลน์ สำหรับนิสิตและบุคคลทั่วไป ที่เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย. 2560 สร้างการเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัดหรือ Chula Mooc เรียนรู้ออนไลน์ เปิดสอนเดือนละ 4 วิชา ปรากฏว่ามีผู้สมัครเรียนนับแสนราย ทั้งเป็นนิสิตจุฬาฯ และบุคคลภายนอก อายุระหว่าง25-34 ปี จากทั่วประเทศ จำนวนผู้เรียนเฉลี่ยแต่ละวิชา 1,000-3,500 คน

ภัทรชาติ เล่าอีกว่า วิชาที่มีผู้เรียนจบมากที่สุด 3 วิชา คือ การทำความเข้าใจงบการเงิน Critical Thinking for Business และ Info Graphic ส่วนวิชาที่ได้รับความสนใจมากสุดคือ การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าทำนายแนวโน้ม Data Science และ Big Data ซึ่งเมื่อเปิดระบบรับสมัครมีผู้สนใจสมัครเรียนเต็มภายใน 5 ชั่วโมง ทำให้ต้องเปิดรับสมัครรอบ 2 โดยวิชานี้มีผู้เรียน 3,500 คน

“เนื้อหาที่สอน จะเน้นแบบสั้นกระชับและนำไปใช้ได้จริง เช่น วิชา Info Graphic ก็สอนให้ผู้เรียนรู้ว่าจะทำพรีเซนเทชั่นอย่างไรให้น่าสนใจ วิชาการตลาดในโลกยุคใหม่ วิชา Big Data ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไปก็ต้องสอนให้นำไปใช้งานได้จริง แต่ละวิชามีผู้ลงทะเบียนเรียนเร็วมาก บางคนลงทะเบียนจากยะลา ลพบุรี อยู่ที่ไหนก็เรียนกับเราได้หมด และตอนนี้เริ่มมีหลายองค์กรมาติดต่อไปให้ความรู้ในบางวิชาถึงสถานประกอบการ” ภัทรชาติ กล่าว

ธานินทร์ คงศิลา หัวหน้าภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร รักษาการผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า มก.ตระหนักเช่นกันว่า ในอนาคตก็จะมีนักศึกษาลดลงแต่จะมีกลุ่มคนทำงานเพิ่มขึ้น โดยได้ริเริ่มออกแบบ หลักสูตร Non Degree  เป็นการเรียนการสอนแบบนอกเหนือจากภาคปกติ เรียนจบได้ใบประกาศนียบัตร

หลักสูตรดังกล่าวเปิดโอกาสให้แก่คนทุกวัยทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นคนวัยทำงานหรือคนวัยเกษียณ คือ เรียนวิชาที่นำไปใช้ได้งานได้จริง สำหรับประกอบอาชีพ ไม่ได้เน้นเชิงวิชาการหรือเชิงทฤษฎีเหมือนภาคปกติ เป็นวิชาสำหรับประกอบอาชีพเสริม เช่น การเลี้ยงปลาสวยงามหรือปลาเศรษฐกิจ การเรียนที่ออกแบบขึ้นนั้น จะพาไปดูตลาดว่าความต้องการของตลาดเป็นยังไงและเราจะทำผลิตภัณฑ์อะไรที่ตอบโจทย์กับตลาดหลังจากนั้นก็เริ่มลงมือเลี้ยงในระยะเวลา 3-4 เดือน

นอกจากนี้ ยังเปิดหลักสูตรชุดวิชาการสร้างความสุขของสังคมผู้สูงวัย เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยากทำธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งต้องมีจิตวิทยาในการดูแลผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุมีความสุข เพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย อีกกลุ่มก็คือหลักสูตรการดูแลเด็กปฐมวัยช่วงก่อนเข้าโรงเรียน สำหรับโรงเรียนอนุบาลภาคเอกชนที่มักจะไม่ค่อยมีอาจารย์ที่จบทางด้านปฐมวัยหรือด้านศึกษาศาสตร์โดยตรง

“วิชาเหล่านี้สามารถนำไปสะสมเป็นปริญญาตรีอีก 1 ใบได้ หลักสูตรNon Degree เราให้หน่วยกิตไว้ประมาณ 20 หน่วย และเรามีโครงการธนาคารหน่วยกิต ซึ่งเมื่อคุณจบ 1 ชุดวิชา แล้วคุณก็จะเก็บหน่วยกิตได้ 20 หน่วย และเมื่อคุณเรียนเพิ่มอีก 1 ชุดวิชา ก็จะได้อีก 20 หน่วย โดยใครที่จบปริญญาตรีมาแล้วก็สามารถใช้เทียบเป็นอีก 1 ปริญญาได้เลย” ธานินทร์ กล่าว