posttoday

จนท. นำเครื่องสแกน3 มิติตรวจสอบโครงสร้างเจดีย์วัดพระยาทำหาสาเหตุทรุดตัว

26 กันยายน 2561

เจ้าหน้าที่ นำเครื่อง สแกน 3 มิติ เข้าตรวจสอบโครงสร้างเจดีย์วัดพระยาทำ เพื่อหาสาเหตุการทรุดตัว ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บกลับบ้านแล้ว 4 ราย พักรักษาตัวที่ รพ.7 คน

เจ้าหน้าที่ นำเครื่อง สแกน 3 มิติ เข้าตรวจสอบโครงสร้างเจดีย์วัดพระยาทำ เพื่อหาสาเหตุการทรุดตัว ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บกลับบ้านแล้ว 4 ราย พักรักษาตัวที่ รพ.7 คน

จากกรณี หอระฆัง (เจดีย์ยักษ์) เก่าในยุครัชกาลที่ 3 ภายในวัดพระยาทำวรวิหาร ถ.อรุณอัมรินทร์ ทรุดตัวทับคนงานระหว่างงานซ่อมบูรณะจนได้รับบาดเจ็บ 8 ราย อาการสาหัส 3 ราย ก่อนจะพบผู้เสียชีวิตภายหลังอีก 1 ราย เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา

เมื่อเวลา 09.20 น. ที่วันที่ 26 กันยายน ที่วัดพระยาทำวรวิหารถนนอรุณอมรินทร์ซอย 15 เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ศาตราจารย์ชัยณรงค์ อธิสกุล รองผอ.โครงการเทคโนโลยีสาขาวิศวกรรมโยธา พระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมคณะ นำเครื่องสแกน 3 มิติ(3d scanner) เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ

ผศ.ดร.ชัยณรงค์ กล่าวว่า วันนี้นำเครื่องสแกน 3 มิติ(3d scanner) มาตรวจสอบและวิเคราะห์สภาพปัจจุบันของเจดีย์ ซึ่งสามารถมองเห็นพิกัดของโครงสร้างได้ชัดเจนมากกว่าตาเปล่าและยังสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ได้อย่างละเอียด โดยหลังจากที่ได้ข้อมูลแล้วจะต้องไปประมวลผลฐานคอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจสอบความเสี่ยง คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบครึ่งวันก่อนจะส่งข้อมูลให้กรมศิลปากรต่อไป สำหรับอาคารที่เป็นโบราณสถานแบบก่ออิฐค่อนข้างมีความเสี่ยงที่ผ่านมา เครื่องมือตัวนี้เคยใช้ตรวจสอบโบราณสถานหลายแห่ง ผลเป็นที่น่าพึ่งพอใจ ก่อนที่จะส่งข้อมูลให้กรมศิลปากรต่อไป

ด้านนายณัฐพงษ์ มีโภคกิจ ผอ.สำนักงานเขตบางกอกน้อย เปิดเผยถึงกรณีพบผู้เสียชีวิตเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 25 กันยายนว่า ช่วงเย็นในวันดังกล่าวที่มีการตรวจสอบยอดคนงานหัวหน้างานระบุว่ามีคนงานทั้งหมด 20 คน ซึ่งผู้บาดเจ็บได้เดินทางไปโรงพยาบาลหมดแล้ว แต่เมื่อตรวจสอบอีกครั้งพบว่าคนงานหายไปหนึ่งคนจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบและก็พบร่างของนายสุริยันต์ ทองสายคนงาน เสียชีวิตในลักษณะนอนคว่ำอยู่บริเวณฐานใกล้กับผู้บาดเจ็บคนสุดท้ายที่ช่วยขึ้นมา ซึ่งเหตุการครั้งนี้คาดว่าเป็นความเข้าใจผิดของผู้คุมงานที่คิดว่าผู้บาดเจ็บไปอยู่โรงพยาบาลหมดแล้ว สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บนั้น มีทั้งหมด 11 ราย โดยบาดเจ็บสาหัส 3 รายคือ นายบุญเสริม แสงประเสริฐ กระดูกใต้สะโพกหัก นายวิลาศ ใจจังหรีด ศีรษะแตก กระดูกขาซ้ายหัก นายสายัน หมื่นวงษ์ แขนขวาใต้ข้อศอกเกือบขาด และมีแผลที่บริเวณหน้าผาก ซึ่งได้รับการผ่าตัดแล้ว ส่วนอีก 4 รายบาดเจ็บเล็กน้อย และอีก 4 รายได้กลับบ้านแล้ว

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตนั้นจะต้องดำเนินการปรึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการเยียวยาต่อไป ส่วนการแจ้งความดำเนินคดี กรณีมีผู้เสียชีวิตเป็นเรื่องของทางญาติในเรื่องการดำเนินการ สำหรับสาเหตุของการยุบตัวต้องรอการตรวจสอบอย่างละเอียดซึ่งทางเขตจะไปลงบันทึกประจำวันไว้อย่างไรก็ตาม หอระฆัง (เจดีย์ยักษ์) วัดพระยาทำวรวิหาร เป็นอำนาจการดูแลของกรมศิลปากรในการดำเนินคดี ต่อจากนี้อาจจะมีการขยายผลเพิ่มเติม เพราะที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงโบราณสถานในพื้นที่ของเขตบางกอกน้อยที่เดียว แต่ในเขตฯ ยังมีวัดอยู่ประมาณ 32 แห่ง ซึ่งเป็นวัดเก่าจำนวนหนึ่ง จึงต้องมีการสำรวจดูว่าจะมีวัดที่เป็นโบราณสถานเช่นเจดีย์วัดพระยาทำอีกหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล

ด้านร.ต.อ.พีชญา ฮะวังจู รองสว.(สอบสวน) สน.บางกอกน้อย เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้มีการนัดให้นางหยาดวนา ประเสริฐสม อายุ 48 ปี เป็นหัวหน้าคนงานบริษัท ฟีเนสซอยด์ เทสติ้ง จำกัด เข้าให้ปากคำกับทางเจ้าหน้าที่ แต่นางหยาดวนาไม่สะดวกเนื่องจากจะขอไปจัดการงานศพให้ลูกน้องก่อน และจะรีบเข้าให้ปากคำให้เร็วที่สุด ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลใครเนื่องจากจะต้องทำการสอบปากคำว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบในการคุมงานนี้คาดว่าจะรู้ผลภายใน 1-2 วันนี้ อย่างไรก็ตามหากจะทำการแจ้งข้อกล่าวหานั้น ผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจะต้องเป็นผู้ที่ดูแลรับผิดชอบคุมงานการก่อสร้างโดยจะแจ้งข้อกล่าว กระทำการโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บสาหัส

ต่อมาเวลา 11.00น. นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อม นายอารักษ์ สังห์ตกุล อดีตอธิบดีกรมศิลป์ ลงพื้นที่ตรวจสอบรอบบริเวณเจดีย์ต่อจากเมื่อวานนี้ โดยนายอนันต์ กล่าวย้ำถึงสั่งการจากที่ประชุมถึงการหาสาเหตุการทรุดตัวของเจดีย์ และ หามาตรการเร่งด่วนที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติม รวมถึงการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์ โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนได้หารือกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะทำการคุ้มครองอย่างไร พร้อมได้ระดมวิศวกรเพื่อหาแนวทางค้ำยันเจดีย์ไม่ให้เสียหายมากกว่านี้ และจะปฏิสังขรณ์ต่อไป ซึ่งตนได้เร่งให้ดำเนินการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม วิศวกรที่รับงานนี้มีประสบการณ์ด้านการยกสิ่งปลูกสร้างมาแล้ว แต่คงต้องตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งว่าเหตุเกิดจากความประมาท หรือ เป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นชัดแล้วว่ามีบางอย่างที่ไม่ปกติ

นายอารักษ์ อดีตอธิบดีกรมศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ตัวฐานที่รองรับองค์เจดีย์มีความลาดเอียง ทำให้มีโอกาสที่จะล้มได้ จึงจะทำการค้ำยันก่อนและค่อยเสริมความแข็งแรง อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถคืนสภาพเจดีย์ดังเดิมได้ทั้งหมดแล้ว ต้องดำเนินการด้านโครงสร้างทั้งหมด รวมถึงจัดทำรูปปูนปั้นใหม่ให้เหมือนเดิมมากที่สุด

นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นคาดว่าปัญหาเกิดมาจากอุปกรณ์ในระหว่างทำการยกฐานเจดีย์และเกิดการทรุดตัวในเวลาต่อมา ทั้งนี้ แม้จะมีการตรวจสอบอุปกรณ์ตลอดเวลาแต่ก็ไม่อาจหาข้อสรุปได้แน่ชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

“ตอนนี้ต้องแก้ปัญหาความลาดเอียงที่ทรุดตัวอยู่ให้กลับมาตั้งตรงแล้วค่อยยกขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ คาดว่าแม่แรงบางตัวเกิดปัญหา เนื่องจากหายไปและหาไม่พบ” อดีตอธิบดีกรมศิลป์ กล่าว

ขณะที่นายอารักษ์ กล่าวถึงการฟื้นฟูสภาพจิตใจของชาวบ้านว่า กรมศิลป์จะเร่งบูรณะเจดีย์โบราณแห่งนี้ให้กลับมาดั่งเดิมให้เร็วที่สุด โดยจะเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงรายละเอียดขั้นตอนดำเนินการต่างๆ