posttoday

สั่งเช็กอุโมงค์ในกทม.ประสานทุกพื้นที่ป้องกันท่วมขัง

08 กันยายน 2561

รองผู้ว่าฯ กทม. หวั่น ซ้ำรอยน้ำท่วมอุโมงค์ สั่ง 50 เขตประสานพื้นที่เอกชนทุกจุดตรวจสอบให้รอบคอบ ด้านตำรวจ ชี้บกพร่องน้ำรั่วซึมทั้งที่ฝนไม่ตก

รองผู้ว่าฯ กทม. หวั่น ซ้ำรอยน้ำท่วมอุโมงค์ สั่ง 50 เขตประสานพื้นที่เอกชนทุกจุดตรวจสอบให้รอบคอบ ด้านตำรวจ ชี้บกพร่องน้ำรั่วซึมทั้งที่ฝนไม่ตก

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุ น.ส.ภานุมาศ แซ่แต้ นักธุรกิจวัย 41 ปี ขับรถกระบะจมน้ำเสียชีวิตภายในอุโมงค์ลอดทางรถไฟในหมู่บ้านเอกชนแห่งหนึ่งย่านประเวศ ค่ำวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการปิดระบบเครื่องสูบน้ำที่จะระบายน้ำออกจากตัวอุโมงค์ยามเกิดฝนตกหนัก ล่าสุดกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้สำนักงานเขตทั่วกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต และสำนักการโยธา กทม. แจ้งเจ้าของพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เอกชนที่มีการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด ให้ช่วยตรวจสอบและหมั่นดูแลบำรุงรักษาระบบป้องกันน้ำท่วมเนื่องจากอาจจะเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตของประชาชนได้

พร้อมกันนี้ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา และสำนักงานเขต ที่มีอุโมงค์ทางลอดในพื้นที่ ตรวจสอบระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบไฟฟ้าในอุโมงค์ ระบบเครื่องสูบน้ำ และจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง เตรียมพร้อมฉุกเฉินในกรณีที่มีน้ำท่วมขังอุโมงค์ โดยให้ปิดการจราจรพร้อมติดตั้งป้ายไฟจราจรให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ มีอุโมงค์ทางลอดจำนวน 19 แห่งที่ กทม.รับผิดชอบ ก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 11 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5 แห่ง ประกอบด้วย 1.อุโมงค์ทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์-ถนนพรานนก (สามแยกไฟฉาย) 2.อุโมงค์ทางลอดถนนพัฒนาการถนนรามคำแหง-ถาวรธวัช 3.อุโมงค์ทางลอดถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ช่วง 2 ตามแนวถนนกรุงเทพกรีฑา 4.อุโมงค์ทางลอดถนนรัชดาภิเษก-ถนนราชพฤกษ์ และ 5.อุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน

พ.ต.อ.อลงกรณ์ ศิริสงคราม ผกก.สน.ประเวศ กล่าวว่า จากการสืบสวนหาสาเหตุพบว่าระบบของอุโมงค์ซึ่งเป็นของนิติบุคคลมีความบกพร่องคือมีน้ำรั่วซึมเข้ามา น้ำที่ลงมาทั้งหมดไม่ได้เกิดจากน้ำฝนที่ไหลมาตามธรรมชาติ โดยเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ทางสำนักงานเขตประเวศได้สูบน้ำออกแล้ว แต่วันนี้ก็ยังมีปริมาณน้ำเพิ่ม แสดงว่าระบบการสร้างอุโมงค์และระบบการป้องกันน้ำของอุโมงค์น่าจะมีจุดบกพร่อง

พ.ต.อ.อลงกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับนิติบุคคลเพื่อติดต่อว่าบริษัทใดเป็นผู้สร้าง และให้เข้ามาตรวจสอบระบบว่าน้ำที่ไหลเข้ามาในอุโมงค์ไหลมาจากไหน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่ได้ติดต่อกับคูคลอง อย่างไรก็ตามต้องขอเวลารวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจน และต้องดูว่าทางนิติบุคคลได้สั่งกำชับหรือให้ความปลอดภัยกับลูกบ้านอย่างไร หากรู้ว่าอุโมงค์มีความบกพร่อง

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า อุโมงค์ดังกล่าวก่อสร้างมา 12-15 ปี ขณะที่นิติบุคคลชุดใหม่เพิ่งเข้ามารับช่วงดำเนินการต่อจากชุดเก่าได้เพียง 2 เดือน