posttoday

โคราชขอใช้ทางคู่ วางระบบรถไฟฟ้า LRT

08 กันยายน 2561

โครงการรถไฟความเร็วสูงและทางคู่ที่จะผ่านตัวเมืองนครราชสีมา ทำให้หลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันเสนอรัฐบาลให้ปรับแบบทางรถไฟจากระดับพื้นดินเป็นทางยกระดับ

โดย...ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ

โครงการรถไฟความเร็วสูงและทางคู่ที่จะผ่านตัวเมืองนครราชสีมา ทำให้หลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันเสนอรัฐบาลให้ปรับแบบทางรถไฟจากระดับพื้นดินเป็นทางยกระดับ เพื่อมิให้เกิดการแยกเมืองออกเป็น 2 ส่วน และล่าสุดเทศบาลนครนครราชสีมาก็ได้หารือกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อให้รางยกระดับของรถไฟทางคู่และความเร็วสูง สามารถวางรางรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนขนาดเบา (Light Rail Transit : LRT) ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า การประชุมที่ผ่านมาเทศบาลเสนออยากให้ สนข.เปลี่ยนแบบของรถไฟฟ้า LRT เป็นยกระดับจากระดับพื้นด้วย เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาจราจรหน้าโรงเรียนมารีย์วิทยา เทศบาลมองว่าสิ่งที่มองเห็นคือไม่ว่างบประมาณในการลงทุนกระเป๋าไหนก็ถือว่าเป็นของคนไทยทุกคน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะสร้างรถไฟทางคู่ก่อน เมื่อสร้างเสร็จแล้วถ้าใช้รางของรถไฟทางคู่เพื่อขนส่งมวลชนในเมืองนครราชสีมาด้วยจะเกิดประโยชน์มากกว่าเพราะไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

“โครงสร้างเหล่านี้รัฐบาลงทุนไปแล้ว เราก็สามารถนำมาใช้เชื่อมต่อและวิ่งระยะสั้นในเขตเมืองได้ โดยทางเทศบาลก็จะขออนุญาตนำเสนอ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่ได้มีการพูดคุยกันแล้ว เราดูแล้วว่าทิศทางค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะโคราชของเราเรื่องบุคลากรด้านระบบราง ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน หรือ มทร.อีสาน ซึ่งจะมีหลักสูตรคณะวิศวกรรมระบบรางหรือกระบวนการด้านรถไฟ โคราชสามารถสร้างบุคลากรช่างฝีมือดูแลด้านนี้ได้ และสามารถที่จะต่อยอดทำให้ต้นทุนในการเดินทางถูกลงอีกด้วย”

นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของโครงการนี้คือ ไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่มในการก่อสร้าง รถไฟทางคู่ที่เกิดขึ้นก็คู่ขนานกับถนนมุขมนตรีตลอดเส้นทางไปจนถึง 5 แยกหัวรถไฟ หลังเทศบาล และข้างจวนผู้ว่าฯ คู่ขนานกับเมืองไปตลอด ก็ทำให้ขนส่งมวลชนสามารถเชื่อมโยงกับถนนเดิม ไม่ต้องลงทุนใหม่ อีกทั้งต้นทุนดำเนินการถูกมาก เพราะเป็นรางรถไฟที่รัฐบาลทำอยู่แล้ว

“เส้นทางรถไฟฟ้ารางเบา LRT ยกระดับจะเริ่มจากสถานีภูเขาลาด-โคกกรวด และ โคกกรวด-ภูเขาลาด วิ่งเข้ามาข้างวัดกองพระทราย หรือมาทางโรงแรมสีมาธานี ผ่านสวนภูมิรักษ์ และหน้าโรงเรียนมารีย์วิทยา ผ่านต่อมาด้านหลังเทศบาล และไปถึงจวนผู้ว่าฯ หรือสถานีชุมทางรถไฟจิระ หน้าค่ายกองทัพภาคที่ 2 และไปจบที่ ต.หัวทะเล”

สำหรับกรณีที่จะมีการทุบสะพานหน้าโรงแรมสีมาธานีเพื่อสร้างทางรถไฟทางคู่ยกระดับและรถไฟความเร็วสูง ยังไม่มีการเสนอแบบว่าจะเป็นอย่างไร

สุรวุฒิ มองว่าอยากจะนำเสนอ รฟท.ว่า ถ้าไม่มีสะพานจะสามารถทำอุโมงค์ทางลอด และทำให้ถนนมุขมนตรีที่ในอดีตจะเรียก 4 แยกอัมพวัน ถ้าเราสามารถกลับมาเห็น 4 แยกอัมพวันได้ ก็หมายถึงการจราจรในโซนนี้ก็จะไม่ถูกแบ่งเป็น 2 เมืองแบบเดิม สามารถทะลุตรงได้เลย ถนนเลียบนครก็สามารถตรงมาได้เช่นกัน

“ประชาชนก็มองว่าน่าจะสะดวกในการสัญจรไปมาและลดปัญหาจราจรได้ด้วย เรียกว่าเป็นการฟื้นชีพ 4 แยกอัมพวันก็ได้ และสิ่งที่ตามมาคือการเชื่อมโยงระหว่างวัดอัมพวันในส่วนวัดกองพระทราย ข้ามฟากมาวัดใหม่อัมพวัน ก็สามารถตรงมาได้ง่ายขึ้น ได้มีการพูดคุยคร่าวๆ กับทางการรถไฟฯ แล้ว เพียงแต่ตอนนี้ต้องลองทำโมเดลดูก่อน เมื่อโมเดลเสร็จแล้วจึงค่อยคุยว่าตรงนี้เป็นแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารจัดการเมืองโคราชให้สวยงาม และคล่องตัวในการสัญจรต่อไป ซึ่งจะต้องให้พี่น้องประชาชนดูแบบก่อน และทางหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ดู ถ้าคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวโคราช เราก็นำเสนอเรื่องนี้กับทางรถไฟต่อไป” สุรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย