posttoday

ค้านร่างกฎหมายอุดมศึกษา ไม่ให้สภาวิชาชีพฯออกใบรับรอง หวั่นคุณภาพตกต่ำ

29 สิงหาคม 2561

สมาพันธ์สภาวิชาชีพฯ ค้าน ร่างพ.ร.บ.อุดมศึกษา ชี้ลดบทบาทไม่ให้ออกใบอนุญาตรับรองวิชาชีพ ทำคุณภาพบริการตกต่ำ หวั่นเกิดหมอเถื่อน

สมาพันธ์สภาวิชาชีพฯ ค้าน ร่างพ.ร.บ.อุดมศึกษา ชี้ลดบทบาทไม่ให้ออกใบอนุญาตรับรองวิชาชีพ ทำคุณภาพบริการตกต่ำ หวั่นเกิดหมอเถื่อน

นายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมป์ เปิดเผยว่า สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย แพทย์สภา สภาการพยาบาล สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมป์ สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมป์ มีมติร่วมกันว่า คัดค้านมาตรา 64 , 65 ,66 และ มาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ..... ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนไทย

โดยมาตรา 64 , 65 และ 66 ระบุว่า ห้ามไม่ให้สภาวิชาชีพมีอำนาจในการรับรองหรือกำหนดจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพนั้นของสถาบันอุดมศึกษา และไม่ให้ออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบประกอบอาชีพ ทำได้เพียงจัดประเมินความรู้และทักษะ ในการประกอบวิชาชีพนั้นแก่ผู้สำเร็จการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพที่สภาวิชาชีพนั้นควบคุมอยู่ ซึ่งหมายถึงการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ

ทำให้เกิดผลกระทบคือ ไม่มีการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะวิชาชีพที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของผู้ป่วยได้ เนื่องจากการฝึกปฏิบัติของนักศึกษากับผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการศึกษาในภาคปฏิบัติที่มีความจำเป็น และเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาจากสถาบันแล้ว จะไม่มีหลักประกันว่าสามารถสอบวัดความรู้ผ่านเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ เป็นการสูญเสียทรัพยากรของชาติ ส่งผลให้คุณภาพมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพต่ำลง หรืออาจทำให้เกิดผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตแอบแฝงไปประกอบวิชาชีพอย่างผิดกฏหมายอยู่ตามสถานพยาบาล ย้าน และชุมชจำนวนมาก ท้ายที่สุดจะทำให้แผนการพัฒนาบุคลากรด้านประกอบวิชาชีพที่รัฐบาลวางแผนระดับชาติไว้ล้มเหลว กระทบต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมในระยะยาว

สำหรับมาตรา 48 สถาบันอุดมศึกษาที่หน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพ ให้การศึกษาแก่สังคมภายนอกสถาบันอุดมศึกษา โดยนำความรู้มาจัดฝึกอบรม ผลิตงานวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาสังคมและความรู้แก่ประเทศชาติ เรื่องนี้ทางสมาพันธ์วิชาชีพฯ ขอคัดค้านเนื่องจากหากสถาบันการศึกษาไปให้บริการหรือคำปรึกษางานทางวิชาชีพที่เข้าข่ายเป็นการทำสัญญารับจ้าง โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ถือเป็นการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายสภาวิชาชีพนั้นๆ โดยเฉพาะสภาสถาปนิก และสภาวิศวกร เพราะจะมีผลไปขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติให้ผู้รับจ้างออกแบบ ควบคุมงานจะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากสภาสถานปิก สภาวิศวกร ก่อน

“การที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพถือเป็นหลักมาตรฐานสากล ได้รับความเชื่อถือต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือต่อประเทศชาติด้วย ตัวอย่างเช่นในวงการแพทย์ได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ เกิดจากสภาวิชาชีพนั้นๆได้กำหนดมาตรฐานของวิชาชีพที่เข้มแข็ง” นายทัศไนย กล่าว

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา ยืนยันว่า แพทย์เห็นด้วยกับภาพรวมของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่มีเพียงบางมาตรา ที่ระบุไม่ให้สภาวิชาชีพเข้ามารับรองหลักสูตร จะทำให้ไม่มีการประกันคุณภาพการศึกษา ไม่มีการคุ้มครองบุตรหลานที่จะเข้ามาศึกษาต่อในอุดมศึกษาตามมาตรฐานสากล รวมถึงไม่คุ้มครองผู้บริโภค

“มาตรฐานวิชาชีพจะตกต่ำลง เพราะไม่มีการควบคุมคุณภาพการศึกษาที่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หากเป็นเพียงแค่จัดการสอบเพื่อให้เด็กจบมาครั้งละ 2,000-3,000 คนก็ทำได้ แต่ในเรื่องของการแพทย์ต้องได้ผู้จบการศึกษาที่มีคุณภาพแม่นยำ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการบริการไม่ได้คุณภาพ หากไม่มีการรับรองหลักสูตรจะทราบได้อย่างไรว่าประชาชนได้รับการบริการที่มีคุณภาพ อีกหน่อยหมอเถื่อนจะมากขึ้น เป็นหมอเถือนที่ผลิตจากมหาวิทยาลัย เราไม่อยากให้เกิดสภาพเช่นนั้น ดังนั้นสิ่งที่สภาวิชีพคัดค้านเป็นการคุ้มครองบุตรหลานและคุ้มครองผู้บริโภคด้วย”ทพ.ไพศาล กล่าว