posttoday

แก่งกระจานน้ำล้น จ่อทะลักเมืองเพชรบุรี

22 สิงหาคม 2561

ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันตก และ จ.เพชรบุรี 2-3 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลลงสู่เขื่อนแก่งกระจาน วันที่ 21 ส.ค. มีปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น 777 ล้านลบ.ม. หรือ 109% ความจุ

โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันตก และ จ.เพชรบุรี ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลลงสู่เขื่อนแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 21 ส.ค. มีปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนเพิ่มขึ้น 777 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 109% ความจุ โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่เขื่อนวันละ 25.61 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่ามีปริมาณมากที่สุดในรอบ 10 ปี ทำให้กรมชลประทานที่ 14 และโครงการชลประทานเพชรบุรีต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนจาก 247 ลบ.ม./วินาที เป็น 286 ลบ.ม./วินาที แต่การระบายน้ำครั้งนี้ยังคงเน้นระดับการระบายน้ำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจน้อยที่สุด

ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนกระแก่งกระจานเกินระดับกักเก็บคิดเป็น 109% หรือปริมาณน้ำสูงกว่าสปิลเวย์ 1.44 เมตร และมีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องเปิดทุกบานประตูเพื่อเร่งระบายน้ำเต็มพิกัดวันละ 24.36 ล้าน ลบ.ม หรือ 286 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำในบริเวณ อ.แก่งกระจาน ท่ายาง บ้านลาด  เมือง และ อ.บ้านแหลม  น้ำล้นตลิ่งเอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชน แต่ขอยืนยันว่าจะได้รับผลกระทบระยะสั้น 5-7 วันเท่านั้น เนื่องจากได้เตรียมแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว ด้วยการผลักดันน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทย อย่างไรก็ไม่ประมาทได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

สันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า คาดว่าในช่วงเที่ยงของวันที่ 22 ส.ค. มวลน้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนแก่งกระจานที่ 286 ลบ.ม./วินาที จะเริ่มเข้าถึงตัวเมืองเพชรบุรี แต่กระทบไม่มาก เพราะผลจากการผลักน้ำเข้าระบบเมื่อวันที่ 20 ส.ค. จากลงคลองเดิม 4 สาย เพิ่มเป็นคลองขุดใหม่อีก 1 สาย คือ คลอง D9 ที่อัดน้ำเต็มที่ถึง 118 ลบ.ม./วินาที แม้ว่าส่งผลกระทบให้กับคันดินที่เป็นจุดอ่อนที่ขุดขึ้นใหม่จากคลองสาย 3 ไป D9 มีการพังทลายลง ทำให้มีน้ำบางส่วนทะลักเข้าบริเวณสาย 3 บางส่วนเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรซึ่งเสียหายไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเบื้องต้น เจ้าหน้าที่จึงลดการระบายน้ำลงอยู่ที่ประมาณ 4-5 ชั่วโมง จะส่งผลทำให้น้ำไหลผ่านเขื่อนเพชรมากขึ้น แต่จะส่งผลกระทบในพื้นที่ตัวเมืองเพชรบุรีอีก 10 ชั่วโมงข้างหน้านี้ ซึ่งคาดว่าน้ำจะล้นตลิ่งเข้าท่วม 5 อำเภอลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีดังกล่าว แต่ไม่น่าจะรุนแรงมากนัก โดยพื้นที่ที่มีน้ำปริ่มๆ อยู่ก็จะมีน้ำบริเวณที่ล้นตลิ่ง ส่วนมวลน้ำที่จะไหลเข้าไปท่วมในตัวเมืองเพชรจะอยู่ที่ประมาณ 10-20% คาดว่าไม่เกิน 5-7 วัน จะเริ่มทยอยลดลง

ด้าน ณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รอง ผวจ.เพชรบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ทางจังหวัดต้องปรับโหมดเข้าสู่การรับแผนเผชิญเหตุเพื่อเตรียมความพร้อมทุกอย่าง โดยมีการวางแผนร่วมกันกับทุกภาคส่วน ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ในเรื่องของการป้องกันริมตลิ่งต่างๆ ทำแนวป้องกันน้ำ บริเวณพื้นที่ต่ำ ส่วนความพร้อมใน เรื่องของการยกสิ่งของขึ้นสู่ที่สูง ดูแล ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุในเรื่องของการเคลื่อนย้ายไปอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย สำหรับพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบน้ำท่วมมี 4 ตำบล คือ ต.คลองกระแชง บ้านหม้อ ต้นมะม่วง บ้านกุ่ม และชุมชนนามอญ ซึ่งทางจังหวัดวางแผนผลักดันน้ำให้ออกตามคลองส่งน้ำต่างๆ เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว

ขณะที่ สำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต กล่าวว่า การระบายน้ำออกจากเขื่อนแก่งกระจาน 286 ล้าน ลบ.ม./วินาที จะทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำเพชรบุรีน้ำล้นตลิ่งเอ่อท่วม 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.บ้านแหลม และ อ.เมืองเพชรบุรี แต่ไม่รุ่นแรงมากนัก คาดว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์น่าจะคลี่คลาย เพราะกองทัพเรือนำเรือกว่า 20 ลำ ผลักดันน้ำลงอ่าวไทย

"ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ชลประทานพยายามบริหารจัดการน้ำเพื่อที่จะให้ลดผลกระทบกับประชาชนให้มากที่สุด แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางหน่วยงานทำงาน เต็มที่ ทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ช่วยกันระดมกำลังระบายน้ำออกสู่ทะเลให้มากขึ้น ทุกคลองที่เชื่อมต่อกับคลองส่งน้ำไปสู่คลองระบายน้ำลงทะเล ซึ่งก็ทำทั้งหมดแล้ว" สำเริง กล่าว

ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงต่อเนื่องหลังจากเขื่อนใหญ่ของจีนและเขื่อนไซยะบุรีของ สปป.ลาว เร่งระบายน้ำเต็มพิกัด เพราะฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุเบบินคา ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงสู่เขื่อนจำนวนมหาศาลต่อวัน ทั้งเขื่อนใหญ่ของจีนและเขื่อนไซยะบุรีระบายน้ำลงแม่น้ำโขงพร้อมกัน ส่งผลกระทบต่อจังหวัดติดริมแม่น้ำโขงแล้ว เนื่องจากระดับน้ำเพิ่มสูงไม่หยุดจนท่วมตลิ่งและบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ อ.ปากชม จ.เลย รวมทั้ง จ.นครพนม หนองคาย และบึงกาฬ ส่วนพื้นที่การเกษตร เสียหายหลายหมื่นไร่ 

บรรยายภาพ -  ระดับนำในแม่นำเพชรบุรีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังเขื่อนแก่งกระจานเร่งระบายนำล้นตลิ่งท่วมหลายตำบล ในอ.บ้านลาด และ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี