posttoday

ทัศนะเรื่องพุทธแท้และการใช้ปาฏิหาริย์จากอ.ศิลป์ชัย นักศาสนวิทยา

05 กรกฎาคม 2561

ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการศาสนวิทยา อธิบายเรื่องการใช้ปาฏิหาริย์เเละพุทธแท้

ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการศาสนวิทยา อธิบายเรื่องการใช้ปาฏิหาริย์เเละพุทธแท้

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการศาสนวิทยา โพสต์ภาพจากหนังเรื่อง "พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก" พร้อมกับเผยเเพร่ทัศนะเเละความรู้เรื่องการใช้ปาฏิหาริย์ในศาสนาพุทธประกอบ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ศาสนวิทยา dr.Sinchai Chaojaroenrat

เนื้อหาทั้งหมดระบุว่า

ก็อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่า ผู้เขียนได้เห็นและได้รับภาพนี้มาก แต่ผู้เขียน "ไม่เชื่อ" และผู้เขียนเชื่อว่าคนพุทธส่วนใหญ่เข้าใจภาพนี้ผิด

อย่างแรกที่ไม่เชื่อ คือภาพนี้มาจากหนังเรื่อง "พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก" ซึ่งแน่นอนว่าเป็นหนังเล่าชีวประวัติของศาสดาเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนดูหนังประเภทนี้มามากจนเกินจะจำได้ ก็อยากให้เข้าใจว่า หนังชีวประวัติของศาสดานั้น ส่วนใหญ่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นหนังที่สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกชูพระศาสดาและเพื่อเผยแผ่ศาสนา

หรือพูดง่าย ๆ ว่า หนังชีวประวัติศาสดา เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นหนังเพื่อ "โฆษณาชวนเชื่อ" นั่นเอง (มีอยู่บ้างที่เป็นหนังที่มีการถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาของศาสดา หรือแม้แต่ด้านลบของศาสดา แต่หนังแบบนั้นมีน้อยมาก และส่วนมากฝรั่งสร้าง) หนังเรื่องนี้ก็เช่นกันที่สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูและเผยแผ่ศาสนา

ทีนี้หนังแบบนี้สิ่งที่ต้องระวังในการดูก็คือ ตัวเรื่องจะผ่านการตีความมาอย่างน้อย 3 ชั้นก่อนจะมาถึงสายตาคุณ หนึ่งคือถูกตีคุวามจากคัมภีร์ศาสนาเอง สองถูกตีความจากนักบวชหรือนักวิชาการในศาสนา สาม ถูกตีความจากผู้กำกับ แล้วจึงมาถึงสายตาผู้ชม ผู้ชมจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายของ 3 พวกแรก จึงขอบอกเลยว่า ภาพและเรื่องที่คุณเห็นในหนังนั้น หลายอย่างถ้าคุณอ่านคัมภีร์เองคุณอาจจะไม่เห็นแบบนี้ หรือไม่รู้สึกแบบที่ดูจากในหนัง

เรื่องที่สอง ผู้เขียนไม่เคยเชื่อว่าพระพุทธเจ้าไว้ผมทรงนี้ และถ้าไว้ผมทรงนี้จริงแล้วเหล่าสาวกยังติดตามท่านอยู่ก็ถือว่าเขลาเบาปัญญามาก แค่เรื่องนี้ก็เห็นได้ชัดว่า ผู้กำกับสร้างหนังเรื่องนี้โดยตัวเองตีความตามกลุ่มนักบวชแนวอนุรักษ์ที่เอาแต่ยึดตามจารีตนิยมซึ่งไม่ยอมรับการวิเคราะห์ของนักวิชาการรุ่นใหม่ ที่บอกแล้วว่า ทรงนี้มันผิดแน่ ๆ ดังที่เศียรพระพุทธรูปทั่วไปสร้างกันผิดข้อเท็จจริงอยู่นั่นแล

เรื่องที่สาม คือถ้อยคำที่บอกว่าพระพุทธเจ้าบอกว่า "หากมีพระรูปใดแสดงปาฏิหารย์ใด ๆ อีก ถือว่าไม่ใช่สาวกเรา" คำพูดนี้คนเอาไปใช้กันมากว่า "พุทธแท้ต้องไม่มีการใช้ปาฎิหารย์"

แล้วต่อมาก็พัฒนาแนวคิดจนกลายเป็น "พุทธแท้ต้องไม่เชื่อว่ามีปาฏิหารย์" ดังที่ทุกท่านคงเห็นกระแสกันอยู่

ผู้เขียนขอบอกว่า คนที่เชื่อและรณรงค์อะไรแบบนี้เป็นเรื่องเข้าใจผิดมาก คุณต้องตีความให้ถูกว่า หนึ่ง ถ้อยคำนี้พระพุทธเจ้าพูดจริงไหม? สอง พูดในบริบทหรือท้องเรื่องไหน? สาม ต้องดูคัมภีร์ตอนอื่นที่พูดเรื่องนี้มาเปรียบเทียบกัน? สี่ ต้องดูบริบทเบื้องหลังของสถานการณ์ทางสังคมยุคนั้น? ศึกษาทั้ง 4 เรื่องแล้วถึงจะเข้าใจว่า ความหมายแท้จริงคืออะไรแน่?

ทัศนะเรื่องพุทธแท้และการใช้ปาฏิหาริย์จากอ.ศิลป์ชัย นักศาสนวิทยา

เพื่อให้สั้น จึงขอเข้าประเด็นเลยว่า พระพุทธเจ้าหมายความว่าอย่างไรแน่? จริงหรือว่า พระพุทธเจ้าบอกว่า พุทธแท้ต้องไม่เชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ เหมือนกับที่พุทธทาสพยายามแพร่แนวคิดนี้ จนคน "หลงเชื่อ" กันมาก

อย่างแรก ขอให้รู้ว่า คัมภีร์ไตรปิฎกเต็มด้วยเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ อย่างที่สอง พระพุทธเจ้าทรงตั้งศิษย์เอกซ้ายขวา พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร ซึ่งเก่งกันคนละด้าน ระบุชัดว่า พระโมคคัลลานะเก่งเรื่องอิทธิฤทธิ์ ส่วนพระสารีบุตรเก่งเรื่องสติปัญญา เรื่องนี้ถูกบันทึกในคัมภีร์ชัดเจน

อย่างที่สาม พระพุทธเจ้าพูดถึงอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ที่คนที่บรรลุธรรมขั้นต่าง ๆ จะสามารถมีได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอภิญญาต่าง ๆ เรื่องปาฏิหารย์ 3 อย่าง อิทธิปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เช่น แปลงกาย หายตัว ดำดิน เหาะ อาเทสนาปาฏิหาริย์ ที่สามารถทายใจ รู้วาระจิต รู้ความคิดของคนอื่น และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนให้ประพฤติปฏิบัติธรรม ทำความดี ทั้งทาน ศีล ภาวนา จนหมดกิเลส

ฉะนั้น ถ้าพูดให้ถูกต้องยอมรับก่อนว่า พระพุทธเจ้าเป็นคนหนึ่งที่เชื่อสุดหัวใจว่าเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์มีจริง

หรือถ้าพูดในภาษาสมัยนี้ก็ต้องบอกว่า พระพุทธเจ้าเป็นหนึ่งในพวกเชื่องมงายนี่แหละ

ถ้ายอมรับตรงนี้แล้ว ทีนี้ก็ค่อยมาดูต่อว่า ที่ว่า "ห้ามแสดงปาฏิหารย์" น่ะ หมายความว่ายังไง? อันนี้ก็อาจตีความคลุมไปแบบง่าย ๆ ว่า "อาจ" หมายถึง ห้ามแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์เพื่อเป็นการโอ้อวดตัวสร้างบารมี ห้ามแสดงเพื่อหาผลประโยชน์ที่ขัดกับธรรมวินัย ห้ามแสดงเพื่อสร้างความบันเทิง ห้ามแสดงเพื่อไปทำให้คนยึดติดและไม่นำไปสู่หนทางแห่งการดับทุกข์ที่แท้จริง ฯลฯ

อันนี้ก็แล้วแต่จะตีความกันไป แต่ก็น่าจะไม่ได้รวมถึงการห้ามแสดงเพื่อการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้คนที่มีความทุกข์ยากลำบาก

แต่ที่แน่ ๆ ท่านเป็นพวกเชื่องมงายว่ามีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์เหนือธรรมชาติแน่ ๆ ซึ่งนั่นก็แปลว่า "พุทธแท้" ต้องเป็นพวกที่เชื่อว่ามีอิทธิฤทธิปาฏิหารย์ และนั่นก็แปลว่า ถ้าไม่เชื่อว่ามี คือ "พุทธไม่แท้"

และนั่นก็คือ พุทธทาสคือพุทธไม่แท้ด้วย

เรื่องนี้ยังพูดต่อได้อีกมาก แต่ขอหยุดเพียงเท่านี้ก่อน และอันนี้พูดไปก็เชื่อว่าจะถูกคนที่เชื่อว่าตัวเองเป็น "พุทธแท้" บริภาษเอาแน่ แต่ไม่เป็นไร จะโต้แย้งอะไรก็ได้ แต่ขออย่าหยาบคาย พูดกันด้วยเหตุผลดี ๆ ก็แล้วกัน