posttoday

ซื้อหุ้นหรือกองทุน แบบไหนดีกว่ากัน?

29 พฤษภาคม 2561

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนโสดกันมาก แถมสวัสดิการของรัฐก็ไม่สามารถจะดูแลผู้สูงวัยได้อย่างเพียงพอและดีพอ

โดย กันย์ ภาพ pixabay

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนโสดกันมาก แถมสวัสดิการของรัฐก็ไม่สามารถจะดูแลผู้สูงวัยได้อย่างเพียงพอและดีพอ ดังนั้นตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตนในยามที่ยังหนุ่มสาวมีแรงมีโอกาสในการทำงาน ต้องเก็บออมไว้ให้เพียงพอ เพราะถ้าวัยใกล้เกษียณแล้วมีเงินเก็บแค่ 4-5 แสนบาท แล้วเราต้องอยู่ไปถึงอายุ 80 ปี เงินเท่านี้หารเฉลี่ยรายวันออกมาหักอัตราเงินเฟ้อไปแล้วเท่ากับจะมีเงินใช้ไม่ถึงวันละ 100 บาท แล้วจะพอไหม หากป่วยไข้ต้องเข้าโรงพยาบาลขึ้นมา

เราจำเป็นต้องเก็บออมอย่างจริงจังแล้วนำเงินที่ออมไปลงทุนต่อยอดให้เงินทำงานอีกต่อหนึ่ง ซึ่งมีหลายวิธีเพราะเราสามารถเลือกลงทุนในธุรกิจที่เราชอบได้ และหากเรามีทักษะวิเคราะห์หุ้น มีความรู้ในการเลือกหุ้น เลือกดีๆ สัก 4-5 ตัว แต่ละตัวถือนานหน่อย 3-5 ปี ก็น่าจะมีผลงานที่ดีกว่ากองทุนแล้ว

การลงทุนซื้อหุ้นเองผลตอบแทนจะดีกว่า เราควบคุมเองได้ ตัดสินใจเองได้ว่าจะเอาเงินไปลงในหุ้นที่มีธุรกิจแบบไหน แต่ว่ามีความเสี่ยงมากกว่า ซึ่งตรงนี้เราต้องจัดการด้วยตัวเอง การลงทุนกองทุนรวม หมายความว่า เราต้องเอาเงินไปให้มืออาชีพ คือผู้จัดการกองทุนดูแลแทนเรา ซึ่งเขาก็จะเอาไปลงทุนในหลายๆ ลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละกองทุนจะกำหนด และจะมีการจำกัดและคุมความเสี่ยง ทำให้ผลตอบแทนไม่ได้หวือหวามากนัก (แต่ส่วนใหญ่ก็ดีกว่าการฝากเงินไว้ในธนาคารเฉยๆ) และบางกองทุนก็มีสิทธิประโยชน์อื่นๆ ให้ เช่นที่ส่วนใหญ่รู้จักดีคือ กองทุน RMF กองทุนสำหรับการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ และกองทุน LTF กองทุนสำหรับการลงทุนระยะยาวเกิน 5 ปีขึ้นไป ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ การซื้อกองทุนหุ้นทำได้ง่ายกว่า สะดวกกว่า มีมืออาชีพมาจัดการความเสี่ยงให้ แต่ผลตอบแทนอาจจะไม่หวือหวาถึงใจนัก

ถ้าให้เลือกระหว่างซื้อหุ้นเองกับซื้อกองทุนรวมล่ะ เราเหมาะกับแบบไหน?

ต้องตอบตัวเองให้ได้เสียก่อนว่าเราเหมาะกับการลงทุนแบบไหน ลุยลงทุนหุ้นเอง หรือว่าเอาเงินไปให้กองทุนช่วยลงทุนให้ดีกว่า ซึ่งคำถามที่คุณต้องถามตัวเองมีอยู่หลักๆ 3 ข้อด้วยกันคือ เรามีความรู้ในการลงทุนหรือเปล่า? และพร้อมจะเริ่มเรียนรู้ในด้านนี้ไหม?

ถ้าเราพอมีความรู้ในเรื่องหุ้นอยู่ พร้อมที่จะศึกษาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา และสนุกกับการศึกษาธุรกิจ สนุกกับการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน การลงทุนเองก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่ถ้าไม่สนุกกับการทำในสิ่งที่กล่าวมาด้วยตัวเอง กองทุนรวมหุ้นก็อาจเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ยังไงก็ยังแนะนำให้มีการลงทุนไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เพราะลำพังงานประจำอย่างเดียวมันไม่เพียงพอที่จะทำให้เรามั่นคงและมั่งคั่งทางการเงินได้

คุณมีเวลาในการติดตามผลงานการลงทุนบ้างไหม?

ถ้าเรามีงานที่ยุ่งมากจนไม่มีเวลาติดตามการลงทุนมากนัก การเอาเงินไปให้มืออาชีพในกองทุนรวมช่วยดูแลการลงทุนแทนเรา ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า การติดตามในที่นี้ไม่ใช่ถึงขนาดที่ว่าต้องเฝ้าหน้าจอ ลุกไปไหนไม่ได้ หมายถึงว่าสามารถติดตามดูว่าบริษัทที่เราซื้อหุ้นเขาดำเนินกิจการเป็นอย่างไร ยังดีอยู่ไหม สภาพตลาดโดยรวมเป็นอย่างไร ติดตามข่าวสารของบริษัทเราไว้บ้าง ก็น่าจะเพียงพอ

ราคาหุ้นมีขึ้นมีลงทุกวัน แต่สิ่งที่เราต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกก่อนซื้อหุ้นคือตัวธุรกิจ ไม่ใช่ราคา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเราจะเสียเวลาแค่การวิเคราะห์ครั้งแรก หลังจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการติดตามดูว่าบริษัทยังอยู่ในแนวทางที่ดี (ที่จะไปสู่เป้าหมายที่ประกาศไว้แก่นักลงทุน) หรือเปล่า ยังเติบโตและทำกำไรได้ดีอยู่หรือเปล่า

คุณสามารถวิเคราะห์หุ้นได้ด้วยตัวเองไหม?

ถ้าวิเคราะห์หุ้นได้ดี กรองหุ้นได้ดี และทำผลงานได้ดี อันนี้ลุยเองได้เลย แต่ถ้าหากยังต้องลอกบทวิเคราะห์คนอื่น อาศัยฟังจากคนอื่น รอการบอกต่อจากคนอื่นอยู่ ยังไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ แบบนี้ก็อย่าเพิ่งลุยเองเลย

การไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับหุ้นที่ถืออยู่ เป็นเรื่องที่อันตรายมาก หากหุ้นยังขึ้นอยู่ก็ดีไป แต่ส่วนใหญ่แล้ว ของจริง ตัวจริงเขาวัดกันตอนตลาดขาลงว่าเราจะจัดการบริหารหุ้นอย่างไรให้พอร์ตโดยรวมทั้งปียังมีกำไรชนะดัชนีหุ้น

ถ้าตอบคำถามเหล่านี้ได้ก็น่าจะได้คำตอบแล้วว่าอันไหนดีสำหรับเรามากกว่ากัน และเราเหมาะกับลงทุนหุ้นเอง หรือซื้อกองทุนรวม ถ้าจะถามว่าความยากของการลงทุนหุ้นคืออะไร และอะไรเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการลงทุนหุ้น คำตอบก็คือ การปรับทัศนคติให้ถูกต้องสำคัญที่สุด เพราะว่าหากเรามีทัศนคติมุมมองต่อตลาดหุ้นที่ดีแต่แรกก็เท่ากับว่าเราเดินไปสู่จุดหมายได้อย่างไม่หลงทางแล้ว ไม่ว่าจะขยายพอร์ตหรือทำกำไร มันก็ทำได้อย่างยั่งยืน

แต่หากมาเข้าตลาดด้วยแนวทางที่ผิดแต่แรก แทนที่จะพาไปสู่จุดหมายที่ฝัน บางทีมันกลับจะพาเข้ารกเข้าพง เสียตังค์ด้วย จนสุดท้ายต้องหันหลังออกไปจากตลาดหุ้นในที่สุด