posttoday

วิกฤตขยะจากอาหาร แก้ด้วย ‘จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร’

14 เมษายน 2561

เมืองใหญ่ๆ จากทั่วโลกมักมีปัญหาประชากรล้นเมือง ปัญหาที่ตามมาอย่างต่อเนื่องก็คือ ขยะล้นเมือง

โดย อณุสรา ทองอุไร

เมืองใหญ่ๆ จากทั่วโลกมักมีปัญหาประชากรล้นเมือง ปัญหาที่ตามมาอย่างต่อเนื่องก็คือ ขยะล้นเมือง โดยเฉพาะการกินอาหารเหลือ การไม่ใช้ของเหลือของซ้ำ จะทำให้เกิดวิกฤตโลกร้อน ส่งผลต่อเนื่องทำให้ขยะล้นเมือง และอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย จนกลายเป็นปัญหาขยะที่มาจากอาหาร (Food Waste)

วิกฤตขยะจากอาหารทั่วโลก พบว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั่วโลก หรือประมาณ 1.3 ล้านตัน/ปี กลายเป็นขยะ ถ้าคิดเป็นเงินแล้วอาหารเหล่านี้มีมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพียงพอที่จะเป็นอาหารให้ประชากรได้ถึง 3,000 ล้านคน

ขยะที่เกิดจากอาหารสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นอันตรายโดยเฉพาะก๊าซมีเทนที่มีความรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 เท่า โดยขยะที่เกิดจากอาหารทำให้ขาดความมั่นคงทางอาหาร และสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ และพลังงาน ที่ใช้เพาะปลูกอาหารโดยไม่จำเป็น

วิกฤตขยะจากอาหาร แก้ด้วย ‘จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร’

สำหรับวิกฤตขยะในประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษรายงานว่าในปี 2560 ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นเป็น 27.4 ล้านตัน จาก 27.06 ล้านตันในปี 2559  ส่วนประชากรไทย 1 คนจะสร้างขยะต่อวันถึง 1.13 กิโลกรัม โดยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาขยะที่มาจากอาหาร ในจำนวนขยะมูลฝอยมีขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องเป็นปริมาณกว่า 40%

กรุงเทพมหานครมีประมาณขยะ 16% ของปริมาณทั่วประเทศ ถ้าแยกกันเป็นรายจังหวัดนั้น จ.ฉะเชิงเทรา นครศรีธรรมราช และขอนแก่น เป็น 3 จังหวัดที่มีปัญหาด้านการจัดการขยะมูลฝอยสูงที่สุด

 หากย้อนไปปี 2554 ปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่มาจากปัญหาขยะ และขยะที่เกิดจากอาหาร จากการทิ้งอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดก้อนไขมันไปอุดตันที่ท่อระบายน้ำ

ปัจจุบันมีหลายๆ ประเทศ และหลายๆ องค์กรเริ่มหันมาสนใจเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะไม่อย่างนั้นปัญหาจะบานปลายส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกร้อนและเสียทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่คุ้มค่า

วิกฤตขยะจากอาหาร แก้ด้วย ‘จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร’

หนึ่งในองค์กรที่มีส่วนร่วมในการรณรงค์ลดขยะจากอาหาร เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ก็คือ เทสโก้ โลตัส ที่ใช้กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork) เพื่อลดการสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่แหล่งเพาะปลูก กระบวนการตัดแต่ง บรรจุ ไปจนถึงขนส่ง จำหน่าย และบริโภค

โครงการรับซื้อผลผลิตตรงจากเกษตรกร ช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกร่วมกันตามความต้องการของตลาด ลดปัญหาพืชผลล้นตลาดจนกลายเป็นขยะอาหาร ลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเนื่องจากมีสินค้าล้นตลาด

 รวมถึงการร่วมมือกับเกษตรกรในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการสูญเสียระหว่างทาง เพราะเมื่อสินค้าถูกส่งไปยังร้านค้าจะเน้นดูแลจัดเก็บสินค้าอาหารสดอย่างเหมาะสม เพื่อลดการสูญเสีย ณ จุดขาย ทั้งยังดำเนินการนำสินค้าที่มีสภาพไม่สมบูรณ์แบบแต่ยังคงรับประทานได้มาลดราคาเป็นสินค้าป้ายเหลือง เพื่อลดการสูญเสียช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน

ในแต่ละวันอาหารที่จำหน่ายไม่หมดจะถูกนำไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศล มูลนิธิต่างๆ แก่ผู้ยากไร้ เพื่อเปลี่ยนเป็นมื้ออาหารให้กับผู้ยากไร้ จนถึงปัจจุบันได้บริจาคอาหารไปแล้วเกือบ 1.2 ล้านมื้อ ภายใต้โครงการกินได้ไม่ทิ้งกัน และเปิดตัวสารคดีสั้นตีแผ่วิกฤตขยะอาหารในไทย รณรงค์ทุกภาคส่วนช่วยลดขยะอาหาร หลังบริจาคอาหารที่ร้านจำหน่ายไม่หมดทุกวัน เพื่อตีแผ่ปัญหาที่สังคมไทยยังไม่รับรู้ และเตรียมฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ พร้อมเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี

วิกฤตขยะจากอาหาร แก้ด้วย ‘จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร’

นอกจากนี้ ยังมีการจับมือองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ และนักวิชาการร่วมหาทางออกที่ว่าด้วยการลดขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภคภายในปี 2573

 เดฟ ลูอีส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทสโก้ ได้เป็นประธานกลุ่ม Champions 12.3 ซึ่งเป็นคณะทำงานที่รวบรวมผู้นำจากหลายสาขาทั่วโลก ร่วมกันลดการสูญเสียและขยะที่มาจากอาหาร ส่วนในประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นผู้นำลดปริมาณขยะอาหาร โดยลดการสูญเสียและทิ้งอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน และบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดในแต่ละวันที่ยังมีคุณภาพดีให้แก่ผู้ยากไร้

การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคพบว่า คนไทยยังไม่มีความตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาขยะอาหารมากนัก รวมทั้งไม่ทราบว่าขยะอาหารมีผลกระทบอันใหญ่หลวงในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เขาบอกว่า หวังว่าสารคดีสั้นเรื่องนี้พร้อมทั้งแคมเปญประชาสัมพันธ์ จะช่วยรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนรับรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับวิกฤตขยะอาหารมากขึ้น อันจะนำไปสู่การร่วมมือกันบริโภคอาหารอย่างรับผิดชอบมากขึ้นและลดการทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็น