posttoday

"ล้างบางหมาจรจัด" แค่จับไปฆ่าไม่ใช่ทางออก

12 มีนาคม 2561

ฟังความคิดเห็นจากผู้คลุกคลีกับปัญหาสุนัขจรจัดหลังกระแสเรียกร้องให้กำจัดพวกมันทิ้งเพื่อสุขภาวะของคนไทย

ฟังความคิดเห็นจากผู้คลุกคลีกับปัญหาสุนัขจรจัดหลังกระแสเรียกร้องให้กำจัดพวกมันทิ้งเพื่อสุขภาวะของคนไทย

************************* 

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้ากลับมาระบาดอีกครั้งในประเทศไทย โดยกรมปศุสัตว์ประกาศเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้า พื้นที่สีแดง 22 จังหวัด (12 มี.ค. 61) หลังพบผู้เสียชีวิต 3 ราย นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังโรคในอีก 42 จังหวัด ซึ่งจัดให้อยู่ในพื้นที่สีเหลือง

สถานการณ์ดังกล่าวนอกจากนำไปสู่ความวิตกกังวลของผู้คนแล้วยังเกิดกระแสย่อมๆ เรียกร้องให้กำจัดสุนัขจรจัดเพื่อสุขภาวะของคนไทย

ฆ่าไปก็เท่านั้น

ผลการสำรวจจำนวนประชากรสุนัขประจำปี 2559 ของสำนักงานปศุสัตว์ทั่วประเทศ พบว่า เมืองไทยมีสุนัขมากกว่า 6.7 ล้านตัว ในจำนวนนี้เป็นสุนัขมีเจ้าของ 6.05 ล้านตัว สุนัขไม่มีเจ้าของ 7.5 แสนตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

โรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย บอกว่า การควบคุมจำนวนประชากรสุนัขและโรคพิษสุนัขบ้าคือ การทำหมันและฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นกรมปศุสัตว์มีแนวทางและนโยบายปฏิบัติที่ชัดเจน สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นเพราะขาดการปฏิบัติ

“โรคพิษสุนัขบ้าเคยระบาดในประเทศไทยเมื่อกว่า 10 ปีก่อนและห่างหายไปตั้งแต่ราวปี 2554 จนกระทั่งกลับมาอีกครั้ง ที่ผ่านมาเราระดมฉีดวัคซีนและทำหมันกันอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ

การกลับมาของโรคครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากตัวหมา แต่เกิดจากปัญหาในการบริหาร มีการตั้งข้อสังเกตสองประการคือ หนึ่งการใช้วัคซีนที่ไม่มีคุณภาพหรือหมดอายุ สองคือปัญหาความไม่เข้าใจกันในประเด็นเรื่องอำนาจการใช้เงิน ระหว่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กรมปศุสัตว์และท้องถิ่น”

การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างคนรักสุนัขและผู้ที่ต้องการให้เกิดการกำจัดสุนัขจรจัดที่ไร้เจ้าของให้หมดสิ้น อย่างไรก็ตามโรเจอร์บอกว่า การฆ่าไม่ใช่การป้องกันโรคและประเทศไทยเคยล้มเหลวในการจัดการกับสุนัขจรจัดและโรคพิษสุนัขบ้าด้วยการฆ่ามาแล้ว

“ไม่มีประโยชน์ ก่อนหน้าปี 2543 เราใช้วิธีฆ่ามาตลอด ไม่เคยแก้ปัญหาหมาจรจัดได้เลยเพราะว่าคนยังปล่อย ถ้าจะกลับไปใช้วิธีเดิมที่ไม่ได้ผล ก็เท่ากับกลับไปเริ่มต้นความล้มเหลวใหม่อีกครั้ง”

"ล้างบางหมาจรจัด" แค่จับไปฆ่าไม่ใช่ทางออก โรเจอร์ โลหะนันท์

 

เขาบอกว่า ปัญหาที่แท้จริงของสุนัขจรจัดเกิดเจ้าของปล่อยปละละเลย ไม่มีกฎหมายบังคับใช้จริงจังในเรื่องการขึ้นทะเบียน การควบคุมฟาร์มเลี้ยงและเพาะพันธุ์สุนัข

“ต้นเหตุคือความไม่รับผิดชอบ ทำหมัน ฉีดวัคซีนยังไงก็ไม่ทัน เรามีกฎหมายข้อบัญญัติการเลี้ยงและปล่อยสุนัขโดยให้ทำการขึ้นทะเบียนกับท้องถิ่น แต่ในทางปฏิบัติไม่มีใครเอาหมาไปขึ้นทะเบียน และไม่มีหน่วยงานมาตรวจสอบอย่างจริงจัง

เช่นกันกับกฎหมายในการดูแลฟาร์มเพาะพันธุ์เราก็ไม่มี มีแต่คนแข่งกันเพาะ หมาที่ตกเกรดถูกเลหลังขายในราคาถูก คนซื้อหมากันง่าย ทิ้งกันง่าย หมาลูกครึ่งกลายเป็นหมาจรจัดเต็มไปหมด เขาซื้อเพราะราคาถูกไม่ได้ซื้อเพราะรัก หรือพร้อมรับผิดชอบมัน หลายคนยังเลี้ยงแบบไทยๆ ปล่อยให้ไปหากินข้างนอกและไปท้องมาข้างนอก ถ้าเราเห็นสาเหตุของปัญหาจะพบว่าฆ่าไปก็ล้มเหลว ไม่จบและเป็นบาปติดมือด้วย”

"ล้างบางหมาจรจัด" แค่จับไปฆ่าไม่ใช่ทางออก

อย่าแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ความคิดเห็นของผู้ที่ต้องการกำจัดสุนัขจรจัด ส่วนใหญ่มองในเรื่องความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง รวมถึงงบประมาณในการจัดการที่เห็นว่าในเเต่ละปีประเทศต้องเสียเงินเป็นค่าดูแล ค่าอาหาร ค่าก่อสร้างสถานที่พักพิงเเละอื่นๆ เป็นจำนวนมาก

ปิยะวรรณ ตั้งสกุลสถาพร แห่งเพจเฟซบุ๊ก A Call for Animal Rights Thailand บอกว่า การฆ่าล้างบางจะประสบความสำเร็จถ้าระบบระเบียบอื่นๆ ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อม แต่ปัจจุบันหากดูกฎหมายและวิธีการดำเนินงาน การฆ่าไม่มีทางประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

“ระบบอื่นๆ ตัวอย่างเช่น กฎหมายขึ้นทะเบียนสุนัข ที่อาจจะต้องมีการระบุให้ชัดเจนว่าขนาดพื้นที่บ้านเท่านี้ สามารถเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงได้กี่ตัว เพื่อไม่ให้สร้างภาระแก่ผู้อื่น อาจมีการจัดเก็บภาษี มีการควบคุมผู้เพาะพันธุ์ ที่ไม่ใช่เอาแต่ผลิตอย่างไม่จำกัดเหมือนปัจจุบัน  วันนี้ฆ่าล้านตัว แล้วยังไง อีก 5 ปีก็ฆ่าอีกล้านตัว แบบนี้เหรอ เป็นการแก้ปัญหาด้านเดียว”

เธอยืนยันว่า ปัญหาจากสัตว์ที่กระทบกับมนุษย์ เกิดจากมนุษย์ด้วยกันเอง ถ้ามีกฎหมายในการควบคุมผู้เพาะพันธุ์และผู้ซื้อ ปัญหาทุกอย่างแทบจะเกิดขึ้นได้ยาก

“จตุจักรขายหมากันอย่างกับขายท๊อฟฟี่ ในโลกออนไลน์ก็มีการประกาศหาคู่ผสมพันธุ์กันแพร่หลาย ปัญหามันอยู่ที่คนจริงๆ ”

"ล้างบางหมาจรจัด" แค่จับไปฆ่าไม่ใช่ทางออก

ย่องฆ่าแบบเงียบๆ

ตามกฎหมายในประเทศไทย การฆ่าสุนัขจรจัดจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อตรวจพบว่า มันเป็นโรคระบาด ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ โดยให้อำนาจกรมปศุสัตว์และสัตวแพทย์

อย่างไรก็ตาม โรเจอร์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทยบอกว่า ที่ผ่านมามีการจัดการฆ่าสุนัขแบบเงียบๆ หลายต่อหลายครั้งโดยอ้างความชอบธรรมเรื่องการเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งที่จริงไม่ได้เป็น เพียงแต่เจ้าหน้าที่หรือท้องถิ่นไม่ต้องการแบกรับภาระ

“วัตถุประสงค์คือการป้องกันโรคไม่ใช่กำจัดสุนัขจรจัด เป็นสิ่งที่กรมปศุสัตว์และท้องถิ่นต้องตระหนัก เรารับรู้มาว่าหลายครั้ง เขาใช้เรื่องโรคมาเป็นข้ออ้างในการจำกัดสุนัข กวาดจับและมาฆ่า ฆ่า ฆ่า พอพบเชื้อตัวหนึ่ง ก็มาสร้างความชอบธรรมตรงนั้น”

โรเจอร์บอกว่า ตามหลักเกณฑ์หากตรวจสอบแล้วเป็นสุนัขจรจัด เจ้าหน้าที่จะจับตรวจและดูแลตามศูนย์พักพิงสุนัข ซึ่งหากไม่มีเจ้าของมารับตามเวลาที่กำหนดมีสิทธิเลหลังขายได้ แต่ปัญหาคือสุนัขจรจัดไม่มีใครซื้อ

“กฎหมายมันออกมาเพื่อสัตว์อย่างวัวควายที่ไม่มีเจ้าของ หลังจากครบ 30 วันสามารถนำไปประมูลต่อได้ แต่เขาเอากฎหมายเอาคลุมหมาด้วย มันเลยมีปัญหา ท้องถิ่นเมื่อไม่อยากเก็บหมาไว้ มองเป็นอุปสรรค ก็หาทางกำจัดด้วยวิธีต่างๆ และอ้างว่าเป็นโรคภัย” โรเจอร์บอกถึงปัญหาและความไม่พร้อมในการดูแลของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง

"ล้างบางหมาจรจัด" แค่จับไปฆ่าไม่ใช่ทางออก

 

กรมปศุสัตว์ เคยระบุว่า การควบคุมโรคเจ้าหน้าที่จะเริ่มดำเนินการจากการฉีดวัคซีนให้กับสุนัข หากรักษาไม่สำเร็จจึงจะใช้วิธีการุณยฆาต ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ โดยการดำเนินการของเจ้าหน้าที่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นที่ตั้ง

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เผยบทสรุปทางระบาดวิทยาในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย พบผู้ป่วยและเสียชีวิตสูงสุดในปี 2523 จำนวน 370 ราย หลังจากนั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยพบผู้ป่วยน้อยกว่าปีละ 10 ราย ตั้งแต่ปี 2554-2558 พบผู้ป่วย และเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 8, 4, 7, 6 และ 5 ราย ตามลำดับ แต่ในปี 2559 พบว่าผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นเป็น 14 ราย ซึ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี และลดลงเหลือ 11 ราย ในปี 2560

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าปี 2559 พบว่า 11 รายจาก 14 ราย หรือร้อยละ 79 ขาดความตระหนักถึงโรคพิษสุนัขบ้า ไม่มีการล้างทำความสะอาดแผล ไม่ได้ไปสถานรักษาพยาบาลทันทีหลังถูกกัด และเมื่อทบทวนข้อมูลย้อนหลังผู้เสียชีวิตระหว่างปี 2555-2560 จำนวน 45 ราย พบว่าประมาณร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลใดๆ เลยหลังสัมผัสสัตว์ที่สงสัย

ทั้งนี้โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เรียกกันอีกชื่อว่า โรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสที่มีสาเหตุจากการถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัดหรือข่วน และไม่ใช่สุนัขเท่านั้นที่สามารถแพร่กระจายเชื้อมาสู่คนได้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใดก็ตามล้วนสามารถส่งผ่านเชื้อพิษสุนัขบ้ามาสู่คน ไม่ว่าจะเป็น วัว ม้า แมว แกะ สุนัข รวมถึงสัตว์ป่าทั้งหลาย เมื่อติดโรคแล้วหากไม่ได้รับวัคซีนอย่างทันท่วงที โอกาสเสียชีวิตก็แทบจะมากถึง 100%