logo-pwa

เพิ่ม Post Today

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
posttoday

ศาลสั่งเพิกถอนมติมธ.ไม่รับ "เคท ครั้งพิบูลย์" เป็นอาจารย์ ชี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

08 มีนาคม 2561

"เคท ครั้งพิบูลย์" ชนะคดีธรรมศาสตร์ หลังศาลปกครองสั่งเพิกถอนมติไม่รับเป็นอาจารย์ ชี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมสั่งให้ทำสัญญาจ้างภายใน 60 วัน

"เคท ครั้งพิบูลย์" ชนะคดีธรรมศาสตร์ หลังศาลปกครองสั่งเพิกถอนมติไม่รับเป็นอาจารย์ ชี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมสั่งให้ทำสัญญาจ้างภายใน 60 วัน

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ศาลปกครองกลาง ได้อ่านคำพิพากษา ในคดีระหว่าง นายเคท หรือคทาวุธ ครั้งพิบูลย์ ผู้ฟ้องคดี กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และได้ผ่านการคัดเลือกแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติไม่ว่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสารทางสังคมออนไลน์ในลักษณะที่ไม่เหมาะสมและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสืออุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาแล้วมีมติยืนยันตามมติเดิม ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องต่อศาล

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีได้สื่อสารทางสังคมออนไลน์เป็นวิธีสื่อสารถึงกัน อันเป็นสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทรับรองสิทธินี้ไว้ แต่สิทธิ เสรีภาพ ในการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ของผู้ฟ้องคดีจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ หากผู้ฟ้องคดีมีการสื่อสารทางสังคมออนไลน์โดยไม่ได้อยู่ภายใต้ขอบเขตกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้

ซึ่งศาลได้พิจารณามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้เกี่ยวกับเพศสภาพ หากแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้นำพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ฟ้องคดี ที่ได้สื่อสารทางสังคมออนไลน์มาใช้อ้างในการมีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แต่เมื่อศาล ได้พิจารณาพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ได้สื่อสารทางสังคมออนไลน์ซึ่งได้แก่ เฟซบุ๊ก (Facebook) จำนวน 4 ข้อความ และอินสตาแกรม (Instagram) จำนวน 2 ข้อความพร้อมภาพประกอบ แล้วเห็นว่า การใช้ถ้อยคำของผู้ฟ้องคดีและภาพที่ได้เผยแพร่ในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมอาจจะมีการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพและภาพไม่เหมาะสมอยู่บ้างบางคำบางภาพ แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่าผู้ฟ้องคดี มีลักษณะต้องห้ามอันเนื่องจากเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี ตามมาตรา 7 (ข) (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ โดยให้มีผลนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และมีข้อสังเกตและแนวทางเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปทำสัญญาจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ ตามที่สอบคัดเลือกได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด