posttoday

พบคนแก่ไทยถูกหลอกซื้อสินค้าไร้คุณภาพ-ทำธุรกรรมจนเสียทรัพย์เพิ่ม10เท่า

05 มีนาคม 2561

ผลวิจัยพบผู้สูงอายุไทยถูกหลอกลวงเอาทรัพย์สินสูงขึ้น 10 เท่า นักวิชาการเสนอตั้งผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิฯดูแล

ผลวิจัยพบผู้สูงอายุไทยถูกหลอกลวงเอาทรัพย์สินสูงขึ้น 10 เท่า นักวิชาการเสนอตั้งผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิฯดูแล

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิต่อผู้สูงอายุไทย พบว่าปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งคือ ปัญหาความรุนแรงด้านจิตใจ โดย 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุให้ข้อมูลว่า เคยถูกกระทำรุนแรงด้านจิตใจ เช่น พูดไม่ดี ทะเลาะ ทำให้เสียใจ น้อยใจ รวมถึงการทอดทิ้ง ไม่ดูแล สอดคล้องกับข้อมูลสถิติจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม (1300) พบปัญหาผู้สูงอายุขาดผู้ดูแล เพิ่มเป็น 10 เท่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งปัญหาลูกหลานดูแลผู้สูงอายุไม่ไหว และสถานสงเคราะห์ของผู้สูงอายุมีจำนวนจำกัด

นอกจากนี้ระยะหลังจะพบบ่อยครั้งมากขึ้นที่มีบุคคลมุ่งเอาประโยชน์ในด้านทรัพย์สิน ทั้งจากคนในครอบครัวหรือคนภายนอก เช่น ถูกหลอกให้ทำธุรกรรมต่างๆ เช่น ถูกหลอกให้ซื้อสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ หลอกให้ทำธุรกรรม จาก  70 ราย ในปี 2548 เพิ่มเป็น 700 ราย ในปี 2559 จะเห็นได้ว่าขนาดของปัญหาเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า

รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมุนษย์กล่าวอีกว่าปัญหาความรุนแรงในการทำร้ายร่างกาย มักพบว่าเป็นคนใกล้ตัว ที่มีปัจจัยด้านสุขภาพจิต หรือติดสุรา สารเสพติด รวมถึงความรุนแรงทางเพศ ที่มักเกิดกับผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวลำพัง

ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์การเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในการเตรียมความพร้อมรับมือ ทั้งการสร้างความรู้ ทำให้สังคมเกิดความตระหนักรู้และเกิดการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เกิดข้อเสนอ แนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ ตลอดจนเกิดการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ ทั้งในการด้านสภาวะทางกายและใจ และการจัดการทรัพย์สินตลอดจนด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ และสังคมสูงอายุระดับสุดยอดของประเทศไทยในอนาคต ที่มีความจำเป็นในการสร้างระบบ มาตรการ กลไกเพื่อการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนแนวทาง/ ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิจากการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ภัทรพร คงบุญ ผู้จัดการชุดโครงการการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มสผส.) กล่าวว่าผู้สูงอายุจำนวนมากถูกละเมิดสิทธิ์ จำเป็นต้องมีผู้ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิ ที่จะเป็นผู้ช่่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ไม่ให้เกิดในอนาคต

ทั้งนี้ ผู้พิทักษ์คุ้มครองสิทธิฯ คือผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ให้สามารถดำเนินกิจกรรมประจำวันได้ปรกติตามอัตภาพ คุ้มครองไม่ให้ถูกละเมิด หรือได้รับประโยชน์ตามสิทธิต่างๆ ตามที่ควรได้ ทั้งสิทธิส่วนบุคคล  การรักษาพยาบาล  ทั้งนี้เบื้องต้นมุ่งเน้นให้สมาชิกครอบครัวทำหน้าที่นี้เป็นลำดับแรก เพราะเชื่อว่าผู้สูงอายุต่างต้องการอยู่ร่วมกับครอบครัว เพื่อใช้ชีวิตในช่วงท้ายอย่างมีความสุข

ทั้งนี้การเสนอให้เกิดระบบการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ ควรดำเนินการไปพร้อมกับการป้องกันอันตราย และการรักษาผลประโยชน์ ซึ่งในเรื่องนี้ควรมีการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิ กฎหมาย และการถูกละเมิดสิทธิผ่านสื่อสาธารณะ เพื่อให้เป็นที่รับรู้ เข้าใจแก่คนในสังคม เพื่อนบ้าน ผู้พบเห็น สามารถทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ผู้สูงอายุ ถูกละเมิด รวมถึงจัดให้มีบุคลากรรัฐไปให้คำปรึกษาด้านสิทธิและกฎหมาย ป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบด้านทรัพย์สิน