posttoday

ให้รอคำพิพากษาศาล ‘อัศวิน’เบรกเปิดตลาดรอบใหม่

03 มีนาคม 2561

ผู้ว่าฯกทม. ปฏิเสธ ไม่ได้เป็นผู้ชี้นำให้ผู้ประกอบการตลาดรอบบ้านในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ทั้ง 5 แห่งเร่งยื่นขออนุญาตประกอบการตลาดภายใน 7 วัน ควรรอคำพิพากษาศาลก่อน

ผู้ว่าฯกทม. ปฏิเสธ ไม่ได้เป็นผู้ชี้นำให้ผู้ประกอบการตลาดรอบบ้านในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ทั้ง 5 แห่งเร่งยื่นขออนุญาตประกอบการตลาดภายใน 7 วัน ควรรอคำพิพากษาศาลก่อน

ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคดีที่ บุญศรี แสงหยกตระการ กับพวกรวม 4 คน ยื่นฟ้อง ผู้ว่าฯ กทม.กับพวก รวม 4 คน ว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการปล่อยปละละเลยให้มีการก่อสร้างตลาดรอบบ้านในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ซอยศรีนครินทร์ 55 เขตประเวศ กทม. และไม่ควบคุมการประกอบกิจการตลาดในหมู่บ้านจัดสรร เป็นเหตุให้บุญศรีกับพวกได้รับความเดือดร้อน

ทั้งนี้ บุญศรีเดินทางมาพร้อมกับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากตลาด ในส่วนของ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เดินทางมาด้วยตัวเอง พร้อมกับผู้อำนวยการเขตประเวศ

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวภายหลังว่า ได้ชี้แจงให้ศาลทราบว่าเพิ่งรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2559 จึงไม่ทราบเรื่องนี้มาแต่ต้น เมื่อเกิดเหตุทุบรถวันที่ 18 ก.พ. 2561 ก็ได้ลงพื้นที่และสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เยียวยาครอบครัวบุญศรี ให้เป็นไปตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาการจัดตั้งตลาด ซึ่งจะมีการสรุปผลในวันที่ 5 มี.ค.นี้ โดยศาลได้ขอให้แจ้งผลสรุปให้ศาลทราบด้วย ซึ่งจะนำส่งได้ในวันที่ 6 มี.ค.

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ไม่ได้เป็นผู้ชี้นำให้ผู้ประกอบการตลาดทั้ง 5 แห่งเร่งยื่นขออนุญาตประกอบการตลาดภายใน 7 วัน เพราะได้สั่งการแล้วให้ทุกตลาดหยุดขาย ควรรอคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลออกมาก่อน ซึ่งคิดว่าคงไม่นาน ส่วนผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปิดตลาด กทม.ก็ได้เยียวยาโดยจัดหาตลาด 4 แห่งให้ขายแล้ว

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.อยู่ระหว่างการตรวจสอบตลาดทั้งหมดที่ไม่ได้ขออนุญาตตามกฎหมาย โดยได้รับรายงานว่ามีตลาดที่มีใบอนุญาตถูกต้อง 364 แห่ง ในจำนวนนี้มี 137 แห่งที่ไม่ผ่านเกณฑ์ตามหลักสุขาภิบาลอาหารของสำนักอนามัย กทม. ซึ่งจะให้เจ้าของตลาดแก้ไขให้ผ่านหลักเกณฑ์ดังกล่าว

ให้รอคำพิพากษาศาล ‘อัศวิน’เบรกเปิดตลาดรอบใหม่

สำหรับตลาดที่ไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร หรือขออนุญาตแต่ประกอบกิจการผิดประเภท เบื้องต้นมีกว่า 100 แห่ง ส่วนนี้จะเร่งรัดให้เข้าไปตรวจสอบ โดยตลาดที่สามารถแก้ไขได้จะพยายามส่งเจ้าหน้าที่ไปแจ้งเตือนและดำเนินการแก้ไขตลาดให้ถูกต้อง เช่น ตลาดแห่งนี้ขายของประเภทใดได้หรือไม่ได้บ้าง ปรับแก้อาคารให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติ บางครั้งมีตลาดขออนุญาตใช้อาคารเพื่อใช้พาณิชย์ แต่ไม่ได้ขออนุญาตจัดตั้งตลาด สำหรับประเภทของตลาดจะแบ่งย่อยออกไปอีก ได้แก่ ตลาดที่มีโครงสร้างอาคารมั่นคงถาวร และตลาดที่ไม่มีโครงสร้างอาคาร อย่างตลาดที่เป็นเต็นท์ หากพบผิดกฎหมาย กทม.จะไม่ใช้วิธีผลักไสไล่ส่งผู้ค้า

ทั้งนี้ กทม.เห็นใจกลุ่มผู้ค้า เพราะผู้ค้าเองไม่ทราบว่าตลาดที่ค้าขายถูกกฎหมายหรือไม่ แต่เจ้าของตลาดจะรู้ดี ฉะนั้นจะไปโทษกลุ่มผู้ค้าไม่ได้ ขณะเดียวกันเจ้าของตลาดต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับกฎหมาย โดย กทม.ขอให้เจ้าของตลาดแก้ไขให้ถูกต้อง

บุญศรี กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์บรรยากาศรอบบ้านดีขึ้น แต่การที่ผู้ว่าฯ กทม.และผู้อำนวยการเขตประเวศชี้นำให้เจ้าของตลาดให้ขออนุญาตให้ถูกต้องเพื่อกลับมาเปิดตลาดใหม่ในขณะที่คดียังไม่มีข้อยุตินั้น เรื่องนี้ไม่เห็นด้วย และจะไม่ยินยอมให้มีตลาดเกิดขึ้นเด็ดขาด

นิรันดร์ ประดิษฐกุล รองประธานสภา กทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กล่าวว่า กรณีข้อพิพาทว่าในพื้นที่จัดสรรสามารถจัดตั้งตลาดได้หรือไม่ ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคดีของศาล ส่วนเอกสารของทั้ง 5 ตลาดต้องพิจารณาช่วงเวลาที่สำนักการโยธาให้อนุญาตก่อสร้างตาม พ.ร.บ.ผังเมือง และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ก่อนที่จะอนุญาตให้เปิดใช้อาคารมีการตรวจสอบว่าสร้างถูกต้องตามแบบหรือไม่

ธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการเขตประเวศ กล่าวว่า ตลาดทั้ง 3 แห่ง คือ ตลาดสวนหลวง ตลาดรุ่งวาณิชย์ และตลาดร่มเหลือง ต้องหยุดการขายชั่วคราว แต่ทางเขตใช้มาตรการเยียวยาเบื้องต้น คือหาพื้นที่รองรับใหม่ 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ รองรับผู้ค้าได้ประมาณ 300 ราย 2.ตลาดนัดนัมเบอร์วัน ราม 2  3.ตลาดราชพฤกษ์ ริมถนนเฉลิมพระเกียรติ 65 รับผู้ค้าขายของสด และ 4.เขตอยู่ระหว่างประสานพื้นที่ 18 ไร่ บริเวณฝั่งตรงข้ามศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ตามนโยบายตลาดประชารัฐ