posttoday

"หมอประเวศ"แนะ8แนวทางสร้างคนคุณภาพพัฒนาประเทศ

27 กุมภาพันธ์ 2561

สสส.-โชว์ผลงาน15ปีด้าน “เด็ก เยาวชน ครอบครัว”สานพลังเครือข่าย เสริมพลังรัฐ สร้างคุณค่า"หมอประเวศ"แนะ 8 แนวทางปรับสร้างคนคุณภาพพัฒนาประเทศ

สสส.-โชว์ผลงาน15ปีด้าน “เด็ก เยาวชน ครอบครัว”สานพลังเครือข่าย เสริมพลังรัฐ สร้างคุณค่า"หมอประเวศ"แนะ 8 แนวทางปรับสร้างคนคุณภาพพัฒนาประเทศ

เมื่อวันที่ 27ก.พ.61 ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี แจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะให้กับคนทุกช่วงวัย จัดมหกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว “กว่าทศวรรษ พัฒนาครอบครัวอบอุ่น สร้างคุณค่าคน คือผลงานของเรา” ระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2561

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ในฐานะประธานเปิดการประชุมพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สร้างคนไทยคุณภาพ : จากการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ”ใจความตอนหนึ่ง ว่า  กุญแจสำคัญที่จะช่วยถักทอการพัฒนาประเทศไทย คือการจะสร้างคนไทยคุณภาพได้อย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาอย่างบูรณาการและเชื่อมโยงกัน ทั้งนี้ คนไทยทุกคนล้วนมีศักยภาพ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าความเป็นมนุษย์ และไม่ว่าจะอยู่ที่แห่งหนใดก็ควรมีโอกาสได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพของความเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น แต่การพัฒนาประเทศในยุคนี้นำเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ศีลธรรมและคุณภาพคน มาถักทอกันอยู่เป็นระบบที่ซับซ้อนที่ยากจะเข้าใจและแก้ไข

ดังนั้น ต้องหาว่าจะมีกุญแจอะไรที่จะไขเราออกจากกรอบตรงนี้ เพราะที่ผ่านมาพบว่ายังใช้กระบวนทัศน์เก่าในการพัฒนา ได้แก่ 1.การใช้อำนาจ 2.การขาดความต่อเนื่องทางปัญญา ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การพัฒนาไม่ไปสู่ความสำเร็จ 3.การขาดความเชื่อมโยงทั้งนโยบาย วิชาการและผู้ปฏิบัติ  และ4.การใช้ความรู้โดยไม่เรียนรู้ โดยแต่ละเรื่องล้วนทำแบบแยกส่วน ทำเป็นเรื่องๆขาดความเชื่อมโยงกัน ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤติ ผลที่ออกมาก็ไม่สำเร็จ ขณะที่เมื่อลงมือปฏิบัติในสถานการณ์จริง พบว่า การสร้างคุณภาพคนหนีไม่พ้นเรื่องเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การจะสร้างคนไทยให้มีคุณภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงกรอบคิดพื้นฐาน 8 ประการ คือ 1.เคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของทุกคน 2.เคารพความรู้ในตัวคน 3.เอื้ออาทรและจริงใจต่อกัน 4.เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกัน 5.สามัคคีธรรม สร้างพลังทางสังคม 6.เกิดปัญญาร่วม สู่การสร้างนวัตกรรม 7.ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จ และ8.เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน นี่คือคำตอบและทิศทาการพัฒนาคนไทยคุณภาพ

"ถ้าเราเคารพกันแค่ในตำราก็จะมีความรู้แต่ในตำราเท่านั้น แต่ถ้าเราเคารพความรู้ในตัวคน ก็จะมีเกียรติ มีความสุข ความเสมอภาค ดังนั้น จึงต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ บูรณาการและเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทำเกิดพลัง เกิดความสุข ความสำเร็จ ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สสส.เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพคนไทยในลักษณะต่างๆ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพเด็ก เยาวชน การสร้างภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ โดยขับเคลื่อนงานทั้งในรูปองค์กร ผ่านโรงเรียน ชุมชน เป็นต้น" ศ. นพ.ประเวศ กล่าว

ด้าน นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อรวบรวมนำเสนอและต่อยอดขยายผลนวัตกรรม องค์ความรู้ เครื่องมือ สำหรับการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว อีกทั้ง เพื่อสร้างความตระหนักในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการให้ความสำคัญการพัฒนาคุณภาพคนตลอดช่วงชีวิต ในช่วงระยะเวลา 15 ปี ของ สสส.ในการทำงานด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว ได้สนับสนุนนโยบาย “การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต” ของรัฐบาล เพราะเด็ก เยาวชนและครอบครัวคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ และจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีก 3 ปีข้างหน้า

นางเพ็ญพรรณ กล่าวต่อว่า ความสำเร็จของการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ส่งผลกระทบที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนงานระดับนโยบาย ซึ่งสามารถเห็นผลเชิงประจักษ์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติที่เป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นผลงานแห่งความภาคภูมิใจ ดังนี้ กลุ่มปฐมวัย (แรกเกิด-5 ปี) 1)ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดทำคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย หรือ DSPM ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขใช้เป็นเครื่องมือตรวจวัดพัฒนาการเด็กปฐมวัยทุกคน 2)ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สปสช. สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด และเครือข่าย พัฒนาระบบการดูแล รักษา และป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิดใน 5 โรคสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีการจดทะเบียนและสร้างระบบการดูแลรักษาและป้องกันความพิการตั้งแต่แรกเกิด ในระบบสุขภาพแล้ว 3)พัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยการยกระดับคุณภาพด้วยกระบวนการก้าวกระโดด (Benchmarking) ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์เรียนรู้ 55 แห่ง และเครือข่ายทั่วประทศไม่น้อยกว่า 2,000 แห่ง         4)สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายทุกระดับในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ

กลุ่มเด็กและเยาวชน (6-24 ปี) 1)พัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนสุขภาวะ กว่า 2,500 โรงเรียน โดยให้ความสำคัญกับการทำให้ผู้เรียนเป็นสุขทั้งด้าน กาย จิต สังคม และปัญญา 2)สร้างสุขภาวะเด็ก เยาวชน กลุ่มเฉพาะ อาทิ เด็ก เยาวชน ในกระบวนการยุติธรรม เด็กในสถานสงเคราะห์ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เด็กชายขอบ ไร้สัญชาติ 3)สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายระดับต่างๆ เช่น สร้างแกนนำเยาวชนในสถานศึกษา สนับสนุนคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม สร้างเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ สนับสนุนเยาวชนจัดทำฐานข้อมูลด้านเยาวชนในจังหวัด และในกลุ่มครอบครัว1)ร่วมพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว (พ.ศ.2560-2564)และขับเคลื่อนการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม  2)พัฒนาหน่วยวิชาการครอบครัว เพื่อพัฒนาสุขภาวะในครอบครัวกลุ่มเปราะบาง

“15 ปี เราได้สร้างกลไกการทำงาน นวัตกรรม รูปแบบ เครื่องมือ และวิธีการทำงานที่สามารถนำไปใช้ได้จริงทั้งในระดับองค์กรและระดับพื้นที่ ดังนั้น การจัดงานมหกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ในวันนี้ ผลงานที่นำมาแสดงทั้งรูปแบบวิชาการและนิทรรศการ จะทำให้ทุกคนมีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมเพื่อเป็นพลังสำคัญในการสานพลังร่วมสร้างสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ให้ขับเคลื่อนอย่างมุ่งผลสัมฤทธิ์ เพื่อพัฒนาประเทศต่อไป” นางเพ็ญพรรณ กล่าว