posttoday

5 วิธีคุมฝุ่นละออง ภัยร้ายตายแบบผ่อนส่ง

18 กุมภาพันธ์ 2561

จากการศึกษาสามารถวิเคราะห์ได้ว่า "พื้นที่การก่อสร้าง" คือปัจจัยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาด 2.5 pm จุดใดที่มีการก่อสร้างจำนวนมากฝุ่นละอองจะเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ

จากการศึกษาสามารถวิเคราะห์ได้ว่า "พื้นที่การก่อสร้าง" คือปัจจัยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาด 2.5 pm จุดใดที่มีการก่อสร้างจำนวนมากฝุ่นละอองจะเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ

ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครเผชิญกับภาวะฝุ่นละอองขนาด 2.5 pm เกินค่ามาตรฐานอยู่เป็นระลอกทำให้สภาพอากาศทั่วไปในกรุงเทพฯ เหมือนมีหมอกปกคลุมไปทั่วบริเวณ แต่ในความเป็นจริงนั่นคือความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ลอยอยู่บนอากาศ ซึ่งส่งผลร้ายกับกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ผู้สูงอายุ และเด็ก แม้หน่วยงานภาครัฐจะพยายามหยิบยกวิธีเข้ามาควบคุมแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองให้เบาบางลง แต่ก็ยังไร้ความชัดเจนเท่าที่ควร

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยถึงต้นเหตุทำให้เกิดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ 2.5 pm กำลังส่งผลร้ายต่อประชาชนว่า ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ มีศูนย์วิจัยสมาร์ทซิตี้ (Smart city) ซึ่งสามารถตรวจจับจำนวนฝุ่นละอองที่เป็นปัญหา

ขณะนี้ได้ จึงได้นำมาเทียบเคียงกับแผนที่หรือจุดที่มีการก่อสร้าง ผลปรากฏว่ามีฝุ่นละอองขนาด 2.5 pm ตลอดแนวเส้นทางการก่อสร้างทั้งหมด นั่นหมายความว่าจุดใดที่มีการก่อสร้างจำนวนมากฝุ่นละอองจะมีจำนวนมากเป็นเท่าทวีคูณ เพราะฉะนั้นต้องจับทิศทางหาสาเหตุว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดจุดกำเนิดของฝุ่นละออง

“จากการทำงานศึกษาสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ‘พื้นที่การก่อสร้าง’ คือปัจจัยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาด 2.5 pm ที่มาจากการก่อสร้างอาคารโดยไม่มีผ้าใบปกคลุมหรือป้องกันฝุ่นละออง รวมถึงการก่อสร้างสะพาน การวางท่อต่างๆ ยังรวมไปถึงรถบรรทุกปูนและรถบรรทุกเหล็กที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง 2.5 pm จำนวนมาก เนื่องจากรถเหล่านี้มีเครื่องยนต์เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จึงคาดการณ์ได้เลยว่า ‘พื้นที่ก่อสร้าง’ เป็นตัวจุดปัญหาฝุ่นละอองอย่างมาก”

5 วิธีคุมฝุ่นละออง ภัยร้ายตายแบบผ่อนส่ง

ศ.ดร.สุชัชวีร์ เสนอแนวทางแก้ปัญหาที่ทำได้เร่งด่วน 5 ข้อ ว่า

 

1.นำจอ LED ที่แสดงการวัดค่าฝุ่นละอองไปติดตั้งบริเวณจุดก่อสร้าง ถ้าหากจุดดังกล่าวมีฝุ่นละอองจำนวนมาก จะมีการแสดงค่าคุณภาพอากาศขึ้นบนหน้าจอบอกผลทันที ทำให้ผู้รับเหมาต้องรีบดำเนินการแก้ไขเพื่อป้องกันการถูกจับกุม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในต่างประเทศ ดังนั้นเจ้าของหรือหัวหน้าควบคุมงานก่อสร้างต้องคอยมองจอวัดค่าฝุ่นละอองตลอด อย่างน้อยจะช่วยป้องปรามได้ระดับหนึ่ง

2.ยังไม่มีระบบการรวมศูนย์เรื่องการวัดคุณภาพฝุ่นละออง ทำให้การรายงานข้อมูลยังไม่ชัดเจน ส่วนรถที่วัดคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนที่ และการวัดคุณภาพอากาศไม่เคลื่อนที่นั้นยังแก้ไม่ตรงจุด แนะนำให้ควรนำรถวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ไปวิ่งวัดในจุดที่มีการก่อสร้าง หรือจุดก่อสร้างหนาแน่น เพื่อตรวจสอบและรายงานผลเข้ามายังศูนย์ส่วนกลาง

3.บริเวณจุดใดที่มีการก่อสร้างหนาแน่น ทางกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. ควรนำรถน้ำไปฉีดทำความสะอาดในช่วงเช้าและบ่าย หรือในห้วงเวลาการจราจรไม่หนาแน่น ซึ่งวิธีลักษณะนี้สามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองได้เช่นกัน หรือการติดตั้งสปริงเคลอร์ฉีดน้ำจะทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กร่วงตกลงพื้นไม่ลอยอยู่ในอากาศ

4.หากปริมาณฝุ่นละอองมีความหนาแน่นจำนวนมาก ควรทำฝนเทียมเพื่อลดปัญหา

5.จุดก่อสร้างใดที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ควรถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ลงโทษปรับอย่างรุนแรง ทั้งหมดเป็นวิธีที่สามารถดำเนินการได้ทันที มีค่าใช้จ่ายและราคาไม่แพง เชื่อว่าหากมีการนำวิธีเหล่านี้ไปแก้ไขจะทำให้ปริมาณฝุ่นละอองลดลง

“ตอนนี้ประชาชนตื่นตัวกับปัญหาเรื่องนี้อย่างมาก เช่นเดียวกับสถานการณ์ฝุ่นละอองตอนนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดปัญหานี้ขึ้นในกรุงเทพฯ มันเกินค่าที่ควรจะรับได้แล้ว หากปล่อยไว้นานต่อไปจะแก้ไขยากลำบากเนื่องจากฝุ่นละออง 2.5 pm เป็นภัยร้ายที่ทำให้มนุษย์ตายแบบผ่อนส่ง”อธิการบดี สจล.ชี้สภาพปัญหา

5 วิธีคุมฝุ่นละออง ภัยร้ายตายแบบผ่อนส่ง

สอดคล้องกับ เถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ความจำเป็นเร่งด่วนที่ควรเข้าไปแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 pm ต้องเข้าไปดูที่แหล่งกำเนิดหรือจุดที่เป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง เช่น ยานพาหนะ ตั้งแต่รถบริการสาธารณะ หรือ ขสมก.ต้องเช็กเครื่องยนต์ให้พร้อมโดยมีการเผาไหม้ที่มีคุณภาพ ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลต้องหมั่นดูแลด้วยเช่นกัน

 

“รวมถึงการตรวจสอบสภาพรถของกรมการขนส่งทางบก ต้องตรวจให้เข้มงวดมองไปถึงอนาคตที่ต้องปรับระบบคุณภาพรถยนต์ด้วย ถัดมาแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองจากการก่อสร้างคอนโด รถไฟฟ้า ถนน ในเขต กทม.ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด ซึ่งทาง กทม.จะเป็นผู้เข้าไปตรวจสอบดูแลอย่างเข้มข้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา” ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพฯ ระบุ

เถลิงศักดิ์ ยังสะท้อนอีกว่า ในขณะนี้แผนการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ทาง กทม.ร่วมกับตำรวจจราจร เฝ้าระวังตรวจรถที่มีควันดำทั่ว กทม.จำนวน 18 จุดทั่วกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันยังประสานกับกรุงเทพฯ ให้เข้มงวดเชิญผู้ประกอบการก่อสร้างในเขต กทม.มาพูดคุยทำความเข้าใจปัญหาฝุ่นละออง

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการสร้างจิตสำนึก โดยการขอความร่วมมือประชาชนไม่ควรจอดรถแล้วสตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้ง ควรดับเครื่องยนต์ เพราะจะช่วยลดปัญหาการระบายของมลพิษได้ แต่มีข้อกังวลว่า เกรงว่าประชาชนจะไม่พอใจหรือไม่ได้รับความสะดวก แต่เชื่อว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ประชาชนจะเข้าใจสภาพปัญหามากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลกระทบปัญหาฝุ่นละออง หากปล่อยให้คุณภาพอากาศสูงไปเรื่อยๆ จะกระทบและรุนแรง จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่ควรมีการป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้เสี่ยงกับภาวะฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกายอีกทางด้วย 

*************

เรื่องโดย...เอกชัย จั่นทอง