posttoday

พนง.ท่าเรือแจ้งความปอท.เอาผิดดีเอสไอใส่ร้ายปมโกงค่าโอที

30 สิงหาคม 2560

พนักงานการท่าเรือฯ แจ้งความดำเนินคดี ดีเอสไส แถลงข่าวใส่ร้ายโกงค่าล่วงเวลา ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

พนักงานการท่าเรือฯ แจ้งความดำเนินคดี ดีเอสไส แถลงข่าวใส่ร้ายโกงค่าล่วงเวลา ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. เวลา 10.30 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นายกฤษฎา อินทามระ ทนายความ พร้อม พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วม 80 ราย เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.หญิง วลัญชรัชฎ์ คำแก่น รอง สว. (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ พ.อ.พินิจ ตั้งสกุล ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งแถลงข่าวว่า พนักงานการท่าเรือฯ โกงค่าล่วงเวลา (โอที) เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

นายกฤษฎา เปิดเผยว่า วันนี้มีพนักงานการท่าเรือที่เกษียณอายุและยังทำงานอยู่เดินทางมาเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเพราะถูกกล่าวหาทุจริตค่าล่วงเวลา โดยพนักงานท่าเรือเคยได้นำหลักฐานไปฟ้องค่าล่วงเวลาศาลแรงงานกลางเนื่องจากการท่าเรือทำผิดกฎหมาย ซึ่งจริงแล้วตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ต้องเปลี่ยนค่าจ่ายล่วงเวลาจากเหมาจ่ายมาเป็นรายชั่วโมง

นายกฤษฎา กล่าวว่า พนักงานการท่าเรือที่เสียหายไปฟ้องศาลแรงงานกลางให้การท่าเรือจ่ายเงินตามกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งเมื่อปี  56 ศาลแรงงานกลางได้ให้การท่าเรือจ่ายเงินประมาณ 300 ล้านแก่พนักงานการท่าเรือราว 300 คนเพราะเชื่อว่ามีการทำงานจริง ทำให้พนักงานรายอื่นจึงฟ้องร้องเพราะต้องการได้เงินที่ทำงานแลกมากับหยาดเหงื่อ จากนั้น การท่าเรือกลับไปยื่นฟ้องต่อ ดีเอสไอ ว่าพนักงานการท่าเรือทำหลักฐานเท็จ จนกระทั่งส่งเรื่องไป คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

"ขณะนี้ยังมีสำนวนยื่นฟ้องอยู่ที่ศาลแรงงานกลางของพนักงานการท่าเรือฯอีกบางส่วน ซึ่งเป็นเอกสาร 420,000 หน้า นอกจากนี้ การท่าเรือยังจ้างที่ปรึกษาทนายความ วงเงิน 20 ล้านบาท เพื่อมาต่อสู้กับ พนักงานการท่าเรือฯ ซึ่งดูแล้วนำงบประมาณมาใช้ไม่สมเหตุสมผล" นายกฤษฎา กล่าว 

นายระวัง อินทร์กล่อม อดีตพนักงานการท่าเรือฯ กล่าวว่า ตนต่อสู้คดีมาตั้งแต่ปี 45 ยื่นเรื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งปี 53 ตนกับพวกรวม 29 คนได้เงินจากฟ้องร้องการท่าเรือ จำนวน 24 ล้านบาท ต่อมา พนักงานการท่าเรือรายอื่นฟ้องร้องบ้าง เมื่อปี 56 จึงทำให้ นายกัมปนาท อิ่มแสงจันทร์ พนักงานการท่าเรือมายื่นเรื่องที่ ดีเอสไอ ซึ่งเป็นการส่งหลักฐานเพียงฝั่งเดียว และพนักงานที่เสียหายไม่ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลจึงรู้สึกไม่เป็นธรรมเพราะตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 การท่าเรือฯไม่เคยทำตามกฎหมายฉบับนี้เลย นอกจากนี้ ยังมีการบีบบังคับให้พนักงานท่าเรือถอนฟ้องไปแล้วบางส่วนเนื่องจากกลัวโดนดำเนินคดีตามกฎหมาย