posttoday

คุก 3 ปี"เบญจา-3ขรก.สรรพากร"ช่วย"ลูกทักษิณ"เลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ

28 กรกฎาคม 2559

ศาลสั่งจำคุก ‘เบญจา-3ขรก.สรรพากร’ 3ปี ส่วนเลขาคุณหญิงพจมาน โดน 2 ปี ไม่รอลงอาญา เอื้อประโยชน์ช่วย"โอ๊ค-เอม"เลี่ยงภาษีหุ้นบ.ชินฯ

ศาลสั่งจำคุก ‘เบญจา-3ขรก.สรรพากร’ 3ปี ส่วนเลขาคุณหญิงพจมาน โดน 2 ปี ไม่รอลงอาญา เอื้อประโยชน์ช่วย"โอ๊ค-เอม"เลี่ยงภาษีหุ้นบ.ชินฯ

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 912 ศาลอาญา แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ  ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อท.43/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร, น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คดีนี้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องแผนกคดีทุจริตฯ ในศาลอาญา เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 58 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า จำเลยที่ 1-4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของกรมสรรพากรปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อไม่ให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรของนายทักษิณ ต้องเสียภาษีอากร หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย และได้รับประโยชน์ที่มิควร โดยชอบด้วยกฎหมาย จากการที่นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท ถือได้ว่านายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา เป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท ซึ่งการกระทำนั้นทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย  จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

ศาลพิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โดยมีจำเลยที่ 5 เป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่ เห็นว่า คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร เคยมีความเห็นเกี่ยวกับรายได้และส่วนต่างการโอนขายหุ้นให้กับบุคคลธรรมดา เข้าลักษณะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ซึ่งต้องนำเงินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ซึ่งกรณีของนายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทา ได้ประโยชน์จากส่วนต่างของการขายหุ้นละ 1 บาท จึงต้องเป็นรายได้ที่นำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี โดยผลจากการกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการตอบข้อหารือที่ขัดไปก่อให้เกิดความเสียหายต่อกรมสรรพากร ซึ่งความผิดสำเร็จตั้งแต่การตอบข้อหารือ โดยจำเลยที่ 5 ซึ่งหารือมายังสำนักกฎหมาย แล้วนำคำหารือไปใช้ประโยชน์ จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วย

จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี

ส่วนจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งหมดจึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ต่อมาทนายความจำเลยทั้งห้าได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างยื่นอุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 1-4 ยื่นหลักทรัพย์เป็นหนังสือรับรองเพื่อรับการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ต้องหาคดีของกรมสรรพากร มีวงเงินไม่เกิน 4.2 แสนบาท  ส่วนจำเลยที่ 5 ใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด จำนวน 3 แสนบาท

ซึ่งขณะนี้จำเลยทั้งห้ายังรออยู่ในห้องพิจารณา โดยมีผู้ใกล้ชิดให้กำลังใจอยู่ไม่ห่าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนางเบญจา หลุยเจริญ จำเลยที่ 1 ในคดีนี้นับเป็นคนใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน เคยได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิบดีกรมสรรพากรในปี 2546 เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังในปี 2548 เป็นรองปลัดกระทรวงการคลังในปี 2551 เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิตในปี 2554 และตำแหน่งสุดท้ายคืออธิบดีกรมศุลกากร ก่อนจะลาออกจากราชการเพื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556

ส่วน น.ส.โมรีรัตน์ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากรนั้น เคยถูกอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องร่วมกับนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพพากร กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รวม 5 คน ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการเรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร จากกรณีเมื่อปี 2540 ที่คุณหญิงพจมาน อดีตภรรยานายทักษิณ โอนหุ้น บมจ.ชินคอร์ป จำนวน 4.5 ล้านหุ้น ให้นายบรรณพต ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม และคนใกล้ชิด แต่ภายหลังศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง น.ส.โมรีรัตน์กับพวกในคดีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าพวกจำเลยได้ทำการวินิจฉัยและเสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาตามขั้นตอนแล้ว