posttoday

หน้าร้อนจมน้ำตาย ภัยเงียบคร่าเด็กไทย

19 มีนาคม 2559

ความร้อนของอากาศในเมืองไทยในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.ของทุกปี แน่นอนว่าร้อนระดับสูงเป็นประจำทุกปี

โดย...ไซเรน

ความร้อนของอากาศในเมืองไทยในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.ของทุกปี แน่นอนว่าร้อนระดับสูงเป็นประจำทุกปี

การเลือกหาวิธีคลายร้อนที่หลากหลายรูปแบบเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องตกเป็นเหยื่ออันโอชะของเหล่าอากาศร้ายที่มาเป็นประจำทุกปี

การเล่นน้ำ จึงเป็นอีกทางเลือกที่คนมักใช้เป็นวิธีการหนีร้อน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เห็นน้ำทั้งสระน้ำ หนอง คลอง บึง คงบีบรัดหัวใจอยากจะไปลงเล่นให้ฉ่ำอกฉ่ำใจ

แต่การเล่นน้ำก็เป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตเด็กไทยไปไม่น้อยทีเดียว สาเหตุการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กไทยในห้วงเวลาดังกล่าวจึงสูงขึ้นทุกปี

เมื่อหน้าร้อน บวกกับความสนุกสนานที่ได้ลงเล่นน้ำ ชะล่าใจหรือไม่สนใจว่าตัวเองจะว่ายน้ำเป็นหรือไม่ หรือหากเกิดตะคริวขึ้นมาแล้วจะเอาตัวรอดได้อย่างไร

อีกทั้งผู้ปกครองก็ต้องทำมาหากินในช่วงเวลาที่เด็กปิดเทอม การจะมาดูแลตลอดเวลาคงยากเย็น อีกมุมจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ช่วง 3 เดือนแห่งหน้าร้อนและช่วงปิดเทอม มีเด็กเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 1,200 คน หรือวันละเกือบ 4 คนเลยทีเดียว

ขณะที่การประเมินผลการว่ายน้ำของเด็กไทย อายุ 5-14 ปี ที่มีอยู่ราว 8 ล้านคน ก็พบว่าว่ายน้ำเป็นเพียง 24% หรือเพียงแค่ 2 ล้านคน แต่สามารถว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้เพียงร้อยละ 4 หรือ 367,704 คน โดยเด็กที่เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด จะมีทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนถึง 21 เท่าตัว และมีทักษะการช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำ สามารถแก้ไขปัญหาและการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนถึง 3 เท่าตัว ดังนั้นการเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด เป็นมาตรการหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันการจมน้ำได้ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเรียน

ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสริมไว้อย่างน่าสนใจ คือ สาเหตุที่ทำให้มีผู้จมน้ำเสียชีวิตมาก ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการช่วยเหลือผิดวิธี ซึ่งมี 2 ช่วง คือ ขณะอยู่ในน้ำ ซึ่งเด็กๆ จะเล่นน้ำเป็นกลุ่ม พอมีเพื่อนจมน้ำก็จะลงน้ำไปช่วยกันเอง โดยไม่มีความรู้ในการช่วยที่ถูกต้อง และอีกช่วงคือการช่วยเด็กหลังนำขึ้นมาจากน้ำแล้ว โดยประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิด คิดว่าการอุ้มพาดบ่า และกระแทกเอาน้ำออกเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งในความจริงเป็นวิธีที่ผิด เนื่องจากจะทำให้ผู้จมน้ำ ขาดอากาศหายใจนานขึ้น ควรรีบเป่าปากและนวดหัวใจ เพื่อให้หายใจได้เร็วที่สุด ถ้าพบว่าหายใจเองได้หรือหายใจเองได้แล้ว ให้จับผู้จมน้ำนอนตะแคง ให้ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก และใช้ผ้าห่มคลุมตัวผู้ป่วย เพื่อให้ความอบอุ่น งดน้ำและอาหาร และรีบส่งผู้ที่จมน้ำทุกรายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

สำหรับเด็กที่ต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ รวมทั้งผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็น แต่ต้องการลงเล่นน้ำคลายร้อน ควรสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง ทั้งนี้เมื่อพบคนตกน้ำ ต้องไม่กระโดดลงไปช่วย แม้จะว่ายน้ำเป็น เพราะอาจจะถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันได้ วิธีการช่วยให้ยึดหลัก 3 อย่าง คือ

1.ตะโกน คือการเรียกให้คนมาช่วย และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669

2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น

3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ