posttoday

เร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

04 ธันวาคม 2556

รมว.ศึกษาธิการ ประกาศยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย หลังผลทดสอบนานาชาติพบ นักเรียนไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

รมว.ศึกษาธิการ ประกาศยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย หลังผลทดสอบนานาชาติพบ นักเรียนไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ประจำปี 2012 ซึ่งปรากฏว่า คะแนนของนักเรียนไทยทุกวิชาสูงขึ้น แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) นั้น ไม่ใช่จุดด้อยหรือจุดอ่อนแต่อย่างใด แต่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับผลคะแนนของประเทศไทยในการประเมินครั้งต่อไปปี 2558 ให้สูงขึ้น พร้อมทั้ง ประเมินต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้ผลประเมิน PISA ในอนาคตเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อระบบคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย ขณะเดียวกันการประเมิน PISA ยังเป็นการประเมินที่สอดคล้องตามนโยบายของตนที่ต้องการให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์เป็นอีกด้วย

"หวังว่าผลการประเมินนี้ จะทำให้เกิดข้อค้นพบในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ดังนั้น จากนี้ไป ศธ. จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ควรจะยกระดับผลคะแนน PISA ไปถึงระดับใด และจะต้องอาศัยข้อเท็จจริงมาประกอบพร้อมมีแผนรองรับการปฏิรูปเรื่องนี้ทั้งระบบด้วย" นายจาตุรนต์ กล่าว

ทั้งนี้ นางสุนีย์ คล้ายนิล ผู้จัดการโครงการประเมินผล PISA ระดับชาติปี 2012 แถลงผลการประเมิน PISA ว่า มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีของไทยเข้ารับการประเมินด้านคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ จำนวน 6,606 คนจาก 239 โรงเรียนทุกสังกัด ซึ่งผลการประเมินพบว่า

1.ด้านคณิตศาสตร์ นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ย 427 คะแนนเพิ่มขึ้นจากปี 2009 ที่มีคะแนนเฉลี่ย 419 คะแนน แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ซึ่งอยู่ที่ 494 คะแนน และเมื่อเรียงตามคะแนนเฉลี่ยจาก 65 ประเทศ อยู่ในกลุ่มเดียวกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาซักคสถาน ชิลี มาเลเซีย  โดยเซี่ยงไฮ้-จีน มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 613 คะแนน รองลงมา สิงคโปร์ 573 คะแนน ฮ่องกง 561 คะแนน จีนไทเป 560 คะแนน เกาหลีใต้ 554 คะแนน มาเก๊า 538 คะแนน ญี่ปุ่นน 536 คะแนน ลิกเตนสไตน์ 535 คะแนน สวิตเซอร์แลนด์ 531 คะแนน และเนเธอร์แลนด์ 523 คะแนนตามลำดับ ส่วนเวียดนามที่เข้ารับการประเมินเป็นปีแรกมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ซึ่งจากการวิเคราะห์คะแนนนักเรียนไทย 50% รู้คณิตศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐานถือเป็นสัดส่วนที่สูงเกินไป โดยเฉพาะนักเรียนสายอาชีวศึกษาเอกชนที่มีสัดส่วน 82% อาชีวศึกษารัฐ 70%

2.ด้านวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ย 444 คะแนนเพิ่มขึ้นจากปี 2009 ที่มีคะแนนเฉลี่ย 425 คะแนน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD 501 คะแนน โดยเซี่ยงไฮ้-จีน มีคะแนนสูงสุด 580 คะแนน รองลงมาสิงคโปร์ 551 คะแนน ญี่ปุ่น 547 คะแนน ฟินแลนด์ 545 คะแนน เอสโตเนีย 541 คะแนน เวียดนาม 528 คะแนน โปแลนด์ 526 คะแนน และแคนาดา ลิกเตนสไตน์ 525 คะแนน ซึ่งจากการวิเคราะห์คะแนนมีนักเรียนที่รู้วิทยาศาสตร์ต่ำกว่าระดับพื้นฐานอยู่ 34% มากกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ แต่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะนักเรียนกลุ่มนี้มีสัดส่วนลดลงจากครั้งที่ผ่านมา 9%

3.ด้านการอ่านคะแนนเฉลี่ย 441 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ที่มีคะแนนเฉลี่ย 420 คะแนน แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD 496 คะแนน โดยเซี่ยงไฮ้-จีน คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 570 คะแนน รองลงมา ฮ่องกง 545 คะแนน สิงคโปร์ 542 คะแนน ญี่ปุ่น 538 คะแนน เกาหลี 536 คะแนน ฟินแลนด์ 524 คะแนน ไอร์แลนด์ 523 คะแนน จีนไทเป 523 คะแนน แคนาดา 523 คะแนน และโปแลนด์ 518 คะแนน ซึ่งนักเรียนไทยกลุ่มที่มีการอ่านต่ำกว่าระดับพื้นฐานมีมากถึง 33% มากกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีเพราะมีแนวโน้มสัดส่วนลดลง 6% จากการประเมินครั้งที่ผ่านมา

"เมื่อดูผลการประเมินทั้งสามด้านของนักเรียนไทยแยกตามกลุ่มโรงเรียนจะพบว่า นักเรียนจากกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย และกลุ่มโรงเรียนสาธิตจะมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD และยังมีคะแนนเท่ากับกลุ่มสิบประเทศที่มีคะแนนสูงสุด เช่น ด้านวิทยาศาสตร์กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณฯ มีคะแนน 565 คะแนน กลุ่มโรงเรียนสาธิต 533 คะแนน ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่นๆ ได้แก่ โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โรงเรียนเอกชน โรงเรียนเทศบาล โรงเรียนขยายโอกาส สพฐ. โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร วิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐ และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน จะมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนจะมีคะแนนเฉลี่ยต่ำมาก" นางสุนีย์กล่าว