posttoday

มหิดลเป่านกหวีดชุมนุมค้านนิรโทษ6พ.ย.

05 พฤศจิกายน 2556

มหาวิทยาลัยมหิดลเป่านกหวีดจัดชุมนุมคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม 6 พ.ย. ชี้กฎหมายสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องในการปราบคอร์รัปชัน

มหาวิทยาลัยมหิดลเป่านกหวีดจัดชุมนุมคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม 6 พ.ย. ชี้กฎหมายสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องในการปราบคอร์รัปชัน

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) พร้อมด้วยผู้บริหาร และคณบดีคณะต่าง ๆ ได้ร่วมออกแถลงการณ์มหาวิทยาลัยมหิดลคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่ 1

นพ.รัชตะ กล่าวว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ....โดยแก้ไขเพิ่มเติมความาตรา 3 ความบางส่วนว่า "...รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวกลาง ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นความผิดโดยสิ้นเชิง..." การบัญญัติดังกล่าวข้างต้นไม่เพียงแค่เป็นการยกเว้นความผิดและโทษ ให้แก่การกระทำทางการเมืองเท่านั้น แต่จะเป็นผลลบล้างคำพิพากษาของคดีทุจริตคอร์รัปชัน และให้คดีที่เกี่ยวกับการกระทำในลักษณะดังกล่าว ที่อยู่ระหว่างกระบวนการต้องยุติลงด้วย

มหาวิทยาลัยมหิดลเห็นว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีเนื้อหาที่เป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การทุจริตคอรัปชั่นมิใช่สิ่งร้ายแรง และสามารถหลุดพ้นจากความผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม ทั้งนี้จะทำให้การต่อต้านปัญหาการคอร์รัปชันในสังคมไทยไม่ประสบความสำเร็จและจะสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง ให้กับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน

มหาวิทยาลัยมหิดลมีพันธกิจสำคัญในการสร้างบัณฑิตไทยรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ความสามารถทางวิชาชีพ ควบคู่กับการมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม โดยปลูกฝังค่านิยมของมหาวิทยาลัยให้แก่บัณฑิตที่จะออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ร่างพระราชบัญญัตินี้จึงขัดกับหลักธรรมาภิบาลที่มหาวิทยาลัยมหิดลยึดมั่นเป็นหลักในการดำเนินงานและปลูกฝังค่านิยมต่อนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีการศึกษานี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ประกาศเป็นปีแห่งการรณรงค์เพื่อความยึดมั่นความมั่นคงในคุณธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม และได้ร่วมจัโครงการ "บัณฑิตไทยไม่โกง" ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยด้วย

มหาวิทยาลัยจึงขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ และขอให้วุฒิสภาใช้วิจารณญาณในการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศชาติขณะนี้ โดยการไม่ผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อเป็นการจรรโลงคุณธรรมและจริยธรรมของสังคมไทย และขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายใช้สติในการแก้ปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่โดยสันติวิธี อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยให้อิสระแก่นักศึกษา และบุคลากรในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมของมม.ในการแสดงพลังคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น ในวันที่ 6 พ.ย.นี้ เริ่มเวลา 8.30 น. ทางผู้บริหาร คณบดี ผู้อำนวยการ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาของมม. จะพร้อมกันที่ศูนย์การเรียนรู้มม.ศาลายา โดยอธิการบดีจะเดินนำขบวนผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษาไปยังประตู 6 ผ่านตลาดศาลายา และเข้าทางประตู 3 เดินทางไปยังศูนย์การเรียนรู้มม. จากนั้นอธิการบดีจะกล่าวแถลงการณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมยืนแสดงเจตนารมณ์ 1 นาที และจากนั้นผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษาจะร่วมกันร้องเพลงเทิดพระนามมหิดลโดยพร้อมเพรียงกัน

ด้าน รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มม. กล่าวว่า ในส่วน มม.วิทยาเขตบางกอกน้อย หรือโรงพยาบาลศิริราช มี 3 คณะที่จะมาร่วมคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ได้แก่ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ โดยในวันที่ 6 พ.ย. เวลา 17.30 น. บุคลากร นักศึกษา คณาจารย์ และผู้บริหารจะร่วมกันแต่งกายไว้ทุกข์ชุดขาวหรือดำ พร้อมสัญลักษณ์สีน้ำเงิน รวมตัวกันที่ลานพระรูปสมเด็จพระบรมราชชนก เพื่ออ่านแถลงการณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมร่วมร้องเพลงชาติไทย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรักชาติและต้องการเห็นประเทศไทยเป็นสังคมคุณธรรมที่ปราศจากการคดโกง อย่างไรก็ตาม ส่วนจะไปร่วมชุมนุมที่ถนนราชดำเนินเป็นทางการหรือไม่  ยังไม่ได้มีการหารือ

รศ.นพ.พิทยา  จารุพูนผล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มม. กล่าวว่า วันที่ 6  พ.ย.เวลา 17.00 น. บุคลากร นักศึกษา ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาเขตพยาไท จะมารวมตัวกันเพื่อแสดงพลังเพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวและยื่นหนังสือให้กับวุฒิสภา จากนั้นจะเดินขบวนไปร่วมชุมนุมที่อุรุพงษ์

ด้าน รศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขอให้คำจำกัดความของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับนี้ว่า “ย่ามใจ ผิดหลักการ ลุกลี้ลุกลน และได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม” ทำให้พลังนักศึกษาและมหาวิทยาลัยออกมาต่อต้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยในแวดวงอุดมศึกษา ดังนั้นรัฐบาลควรรับฟังด้วยความเคารพ เพราะร่างพ.ร.บ.ฯฉบับดังกล่าวผิดหลักการ และไม่สอดคล้องกับการสอนของมหาวิทยาลัยที่ไปรับรองความถูกต้องให้กับการใช้ความรุนแรงและการคอรัปชั่น

"ขอเตือนว่ารัฐบาลอย่าดึงดัน และขอให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งก็เคยเป็นอดีตนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว เตือนสติรัฐบาลว่าอย่าย่ามใจ เพราะพลังนักศึกษาถือเป็นพลังบริสุทธิ์ ที่สังคมต้องรับฟัง"รศ.สมพงษ์ กล่าว.