posttoday

สช.เร่งขับเคลื่อนลดผลกระทบโรงไฟฟ้าชีวมวล

10 ตุลาคม 2556

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เร่ง 4 มาตรการลดผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลให้ชุมชน

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เร่ง 4 มาตรการลดผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลให้ชุมชน

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 เห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 เรื่อง "การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล" และแผนการขับเคลื่อนมติฯ ตามที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เสนอ นั้น

ทั้งนี้ สช. จะเร่งดำเนินการตามมาตรการป้องและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 4 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดทำแผนพัฒนาพลังงานและแผนแม่บทพลังงานชีวมวลระดับจังหวัด 2.การจัดแบ่งประเภทโรงไฟฟ้าตามกฎหมายโรงงาน และการใช้ประโยชน์ที่ดินใน ผังเมือง การพัฒนามาตรการทางกฎหมาย ที่ให้มีการนำมาตรการต่างๆ ตามประกาศคณะกรรมการกากับกิจการพลังงาน เรื่อง มาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมสาหรับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล (ประเภทเชื้อเพลิงแข็ง)

3.การพิจารณากำหนดให้กิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ 4.การส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน  โดยใช้กระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในระดับชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) เป็นเครื่องมือ

อย่างไรก็ตาม มี 2 ประเด็นที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเพิ่มเติม นั่นคือ ให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดให้มีการลดละเลิกการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าชีวมวล และประเด็นเรื่องการประกาศ ให้การประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเรื่องนี้ ได้มอบให้กระทรวงพลังงานและสกพ.ปรับปรุง CoP  ให้ครอบคลุมการการจัดการมลพิษให้รอบด้านมากขึ้น รวมทั้งมอบหมายให้ กรมอนามัยศึกษาผลกระทบจากโรงไฟฟ้า แล้วนำมาพิจารณาประกอบการประกาศเป็นกิจการที่เป็นอันตรายตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ต่อไป

สำหรับ เรื่องนี้เกิดขึ้นจากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าที่จังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และเมื่อได้รับความเห็นชอบกำหนดให้เป็นระเบียบวาระการประชุมแล้ว ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานวิชาการที่มีนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน ร่วมกันพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย แล้วนำไปจัดกระบวนการรับฟังความเห็นทั่วประเทศ และนำเข้าสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อปลายปี 2555 ก่อนมีฉันทามติร่วมกัน จึงเห็นได้ว่ามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่องนี้ เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นกับชุมชน และเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่จะดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษเพื่อประโยชน์ของประชาชน

"ภายหลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีออกมา ทาง สช. จะได้ประสานงานการทำงานกับหน่วยงานรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันนำมติคณะรัฐมนตรีนี้ไปขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง" นพ.อำพล กล่าว