posttoday

2 ปีเปลี่ยน 4 รมต.เส้นทางทางปฏิรูปศึกษาสะดุด

05 กรกฎาคม 2556

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในช่วง 2 ปี ยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปลี่ยน รมว.ศธ. ไปแล้ว 4 คน คือ 1.วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 25541-8 ม.ค. 2555 2.สุชาติ ธาดาธำรงเวช เมื่อวันที่ 18 ม.ค.-27 ต.ค. 2555 3.พงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่เข้ามาดูแลกระทรวงนี้ เมื่อช่วงเดือน ต.ค.-ก.ค. และล่าสุด 4.จาตุรนต์ ฉายแสง

กล่าวได้ว่าแต่ละคนมีระยะเวลาอยู่ในตำแหน่งสั้นเกินกว่าจะขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากนโยบายประชานิยมการศึกษา อย่างการจัดซื้อแท็บเล็ต ป.1 จำนวน 8.6 แสนเครื่อง ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมว่าจะช่วยยกระดับการศึกษาได้แค่ไหนเพียงไร แต่การจัดซื้อรอบใหม่อีก 1.7 ล้านเครื่อง ก็ยังดำเนินการต่อไป และโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง

ย้อนไปตั้งแต่ยุควรวัจน์รับตำแหน่งใหม่ๆ ได้เสนอให้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมหาวิทยาลัยร่วมกันปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเน้นการฝึกทักษะและสมรรถนะวิชาชีพ แต่เมื่อมาถึงยุคสุชาติดำรงตำแหน่ง แนวคิดดังกล่าวก็ถูกพับเก็บไปราวกับไม่เคยมีมาก่อน ได้แต่เพียงประกาศนโยบายกว้างๆ

เมื่อถึงยุคเปลี่ยนผ่านจากพงศ์เทพเป็นจาตุรนต์ จึงมีประเด็นที่ท้าทาย เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญของนักเรียนทั่วประเทศ หลังจาก ศธ.ประกาศนำร่องหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานฉบับใหม่ จาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เหลือ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ลดชั่วโมงเรียนในห้องเรียนในระดับประถมศึกษาจาก 800 ชั่วโมงต่อปี เหลือเรียนในห้อง 600 ชั่วโมง และเรียนนอกห้องเรียน 400 ชั่วโมงต่อปี โดยหลักสูตรดังกล่าวถูกนักวิชาการในแวดวงการศึกษาวิจารณ์ว่า ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องเป้าหมายและทิศทางที่กำหนดไว้ให้เด็กไทยในอนาคตหลังจบหลักสูตรแล้ว

นอกจากนี้ ศธ.ยังต้องรับผิดชอบ โรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีทั้งหมดกว่า 3.1 หมื่นแห่ง และงบประมาณก้อนโตที่ได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2546 ได้รับงบ 1.8 แสนล้านบาท พอมาถึงปีนี้ได้งบถึง 4.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 19.2% ของงบประมาณของประเทศ

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การศึกษาไทยมีปัญหาที่ซับซ้อนหลายด้าน แต่สิ่งที่ส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษา ซึ่งไม่สามารถทำได้โดยง่ายอยู่แล้วยิ่งยากขึ้น เพราะไม่มีนโยบายที่ชัดเจน รวมถึงการเปลี่ยน รมว.ศธ.บ่อย

“ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงนี้บ่อย เพราะงานของที่นี่ต้องการความต่อเนื่องและดำเนินการในระยะยาวไม่สามารถทำเสร็จได้ใน 6 เดือน หรือ 1 ปี และการเปลี่ยนบ่อยๆ ก็จะส่งผลต่อเสถียรภาพของนโยบาย” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว