posttoday

แนะองค์กรอิสระ-ภาคปชช.ร่วมสอบทุจริต

01 มีนาคม 2556

นักวิชาการสื่อ ชี้ องค์กรอิสระควรปรับทัศนะทำงานต้องโปร่งใส ตรวจสอบกันเองได้ ย้ำจับมือบูรณาการร่วมกับภาคปชช.

นักวิชาการสื่อ ชี้ องค์กรอิสระควรปรับทัศนะทำงานต้องโปร่งใส ตรวจสอบกันเองได้ ย้ำจับมือบูรณาการร่วมกับภาคปชช.

นายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “องค์กรอิสระกับสื่อมวลชน 2 พลังสร้างธรรมาภิบาล” ว่า ต้องย้อนกลับไปรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นเพิ่งเปลี่ยนมาสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ และเริ่มต้นรัฐธรรมนูญ 2534 ก็เริ่มมีประเด็นต่อสู้ขององค์กรอิสระขณะนั้นว่า นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่

ทั้งนี้ องค์กรอิสระมีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐบาลเพื่อประโยชน์ของประชาชน และถือเป็นหลักใหญ่ แต่เมื่อท้ายรัฐบาลพล.อ.เปรม ขณะนั้นมี 3-4 องค์กร ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น คือ ฝ่ายค้าน สื่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในวงราชการ หรือ (ป.ป.ป.) ก่อนจะมาเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเอ็นจีโอ

อย่างไรก็ดี ความร่วมมือจากภาคประชาชนและสื่อเห็นได้ชัด คือ เรื่องทุจริตยาเมื่อปี 2541 ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นมีการเพิ่มงบประมาณเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชน และยกเลิกราคากลางยา ซึ่งผู้บริหารสาธารณสุขขณะนั้นมีการฮั้วโดยให้สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ฮั้วซื้อยาไม่กี่แห่ง ขณะนั้น เกิดความตื่นตัวจากภาคประชาชนด้วยตัวเอง ทั้ง หมอ สาธารณสุข โดยมีการไล่รายการยามาดู ทั้งนี้ ยอมรับว่าหากทำงานร่วมกันโดยปราศจากผู้เชี่ยวชาญ สื่อจะไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะเป็นความรู้เรื่องยา และวิทยาศาสตร์

“มีช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ป.ป.ช. เราร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อข้อมูลข่าวสารกับท่าน สุรสีห์ โกศลนาวิน และท่านวินิจฉัยว่าให้ทางราชการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งท่านสุรสีห์ก็เห็นชอบ จนนำมาสู่การเปิดเผยของป.ป.ช. ผลตามมา คือ ท่าน สุรสีห์ ถูกย้ายโดยไม่มีคำอธิบาย และถูกวิจารณ์ว่าสื่อไปเห็นข้อมมูลของรัฐ ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร”นายภัทระ กล่าว

ทั้งนี้ ป.ป.ช. สามารถเรียกข้อมูลของรัฐมาเปิดเผยได้ เมื่อเห็นระบบใหญ่การทุจริต ป.ป.ช.จึงแยกเป็น 2 สำนวน คือ ส่วนราชการ และนักการเมือง ด้วยความร่วมมือป.ป.ช. ถามว่าได้อะไรจากปปช.ในการเปิดข้อมูลโครงสร้าง ระบบการทุจริต คือ การทำงานอย่างใกล้ชิด แต่กรณีอื่นๆ ทั้งผู้บิรหาร และสื่อมีการแปลกเปลี่ยนไม่เป็นทางการ

ครั้งหนึ่งในการสัมภาษณ์ นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรมว.สาธารณสุข เกิดความหักเหขึ้นในเรื่อง การตั้งคณะกรรมการอิสระคนนอกเข้ามาตรวจสอบ จนนำมาสู่การปรับครม.ขณะนั้น ซึ่งเป็นการร่วมตรวจสอบ แต่โดยรวมองค์กรอิสระอื่น ร่วมกันทำงานใกล้ชิด ไม่ค่อยมี เพราะองค์กรอื่นที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ยังไม่มีการประสานพลังมากพอ

“ภาพรวมในความคิด เรายังเป็นประชาธิปไตยไม่เต็มที่ เป็นเพียงประชาธิปไตยแค่รูปแบบ และหลายอย่างยังไม่เกิดขึ้น เช่น วัฒนธรรมยอมรับความคิดเห็น หรือการตรวจสอบ ดังนั้น ความจำเป็นในการองค์กรอิสระยังคงต้องมีอยู่ แต่ควรดำเนินการให้เหมือนกับประเทศอังกฤษซึ่งมีองค์กรอิสระกว่า 200 องค์กร แต่เป็นอิสระแท้จริง แต่ของไทยยังไม่แท้จริง จึงต้องไปดูอำนาจและขั้นตอน ว่าจะมีการพัฒนาไปอย่างไร แต่ต้องใจเย็น  ”นายภัทระ กล่าว

นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 50 ทำให้ที่มาและองค์กรประกอบขององค์กรอิสระ เพี้ยนจากเดิม เพราะมีที่มาจากศาล ทำให้เกิดสับสน ออกแบบมาไม่ให้ยึดโยงประชาชน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการแก้รธน.50 มีหลายเรื่องต้องแก้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ ส่วนสื่อถูกคาดหวังในการตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม แต่วันนี้ (1มี.ค.) สื่อกระแสหลักไม่หนีจากครอบงำของกลุ่มทุน เช่น โฆษณา ดังนั้น 2 พลังจากองค์กรอิสระ และสื่อ ต้องร่วมมือกันอย่างแข็งแรง องค์อิสระต้องไม่ฮั้วกับสื่อ ต้องมีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน รวมทั้งถูกตรวจสอบได้จากประชาชน ซึ่งเป็นแกนหลักอำนาจพ้นฐาน

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริตของสื่อ เกิดก่อนมีองค์กรอิสระ แต่เมื่อมีองค์กรอิสระแล้ว การทำหน้าที่สื่อเพื่อสร้างธรรมาภิบาล น่าจะทำได้ดีขึ้นหรือไม่ เพราะบทบาทหลักขององค์กรอิสระคือการเข้าถึงข้อมูล

อย่างไรก็ดี บางครั้งสื่อไม่มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลนั้นๆ ที่จะมาเปิดโปงการทุจริต แล้วทำให้เกิดผลกระทบจนเกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อไปดูแล้ว องค์กรอิสระน่าจะช่วยได้มาก แต่ปัญหาต้องยอมรับว่ามีปัญหาในการประสานข้อมูลกัน องค์กรอิสระไม่สามารถให้ข้อมูลกับสื่อได้ ดังนั้น ถ้าจะร่วมสร้างธรรมาภิบาลต้องมีการพูดคุยกัน เพื่อร่วมมือกัน ทำให้การตรวจสอบดีขึ้น

“ปัญหาธรรมาภิบาลในองค์กรสื่อฯ รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพกับสื่อ ในการกำกับดูแลกันเอง เช่น สภาการหนังสือพิมพ์ที่ได้มีการตั้งขึ้นเพื่อมาดูแลสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ธรรมาภิบาลของสื่อ ยังมีข้อจำกัดเรื่องทุน การซื้อโฆษณา มีการเมือง เข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ ทั้งนี้การที่ 2 องค์กรจะมีธรรมาภิบาล ต้องมีภาคประชาสังคมเข้ามาตรวจสอบ”นายชวรงค์ กล่าว

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการการจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช. ในฐานะซุปเปอร์องค์กรอิสระ มีศักดิ์ศรีไม่เทียบเท่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกสทช.แค่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น

อย่างไรก็ดี การที่กสทช.เหนือกว่า ตรงที่มีรายได้ของตัวเอง ทำงานคล้ายรัฐวิสาหกิจ และทำงานได้อิสระจริงๆ เพราะมีงบประมาณของตัวเอง แต่อาจมองได้ว่าใช้เงินมือเติบ เหลือก็คืนคลัง ถามว่าจะถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองมีความเป็นได้ แต่ก็เป็นหน้าที่สังคมต้องช่วยกัน

“ที่ผ่านมา ตอนเข้าไปทำงานกสทช. ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรตัวเอง แต่การทำงานมีระบบอุปถัมภ์ กสทช.ภาคธุรกิจเข้าหา เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องระวังเพื่อกันไม่ให้เกิดข้อครหา และธรรมาภิบาลหลายองค์กร คือ มีความเป็นอิสระ แต่กสทช.มีอิสระจริง แต่การทำงานหนึ่งปียังเห็นไม่ชัด แต่กสทช. อยู่ในยุดเปลี่ยนผ่านให้บารานซ์ระดับหนึ่ง และที่ต้องระวังสำคัญและอาจทำให้เกิดข้อเสียได้ หากไม่ฟังสาธารณะ ก็จะเสียไปเลย เพราะเข้าสู่เรื่องอุตสาหกรรม”น.ส.สุภิญญา กล่าว/