posttoday

กูรูไอที แนะสังคมออนไลน์ ตรวจสอบกันเอง

06 ตุลาคม 2555

กูรูแนะรัฐสนับสนุนระบบการตรวจสอบกันเองในสังคมออนไลน์ ชี้หากขาดขบวนการปลูกฝังทัศนคติที่ดีอีก 5 – 10 ปีหน้าสังคมอันตราย

กูรูแนะรัฐสนับสนุนระบบการตรวจสอบกันเองในสังคมออนไลน์ ชี้หากขาดขบวนการปลูกฝังทัศนคติที่ดีอีก 5 – 10 ปีหน้าสังคมอันตราย

งานเสวนาเวทีสาธารณะ เรื่อง “ล่าแม่มด – เซ็กส์ – ความรุนแรง ภัยเงียบออนไลน์” จัดโดยสมาคมนักข่าวและนักหนังสื่อพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ผู้อบรมหลักสุตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่นที่ 3  โดยมี นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดด้านคอมพิวเตอร์ นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกร รายการแบไต๋ไฮเทค และ พ.ต.ท.พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ จิตแพทย์ โรงพยาบาลตำรวจ ร่วมเป็นวิทยากร

 วงเสวนาได้ถกปัญหาบนสังคมออนไลน์ปัจจุบันหลายแง่มุม  อาทิวัฒนธรรม “ล่าแม่มด”  หรือการรับฟังข้อมูลด้านลบของบุคคลอื่นมา  แล้วรวมกลุ่มกันถล่มด่าว่าทางโซเชี่ยลมีเดียโดยขาดวิจารณญาณการไตรต่ตรองหรือกลั่นกรองข้อมูล  เช่นเดียวกับการจัลบ “แม่มด” มาเผาในยุโรปยุคกลาง  นำมาซึ่งความเสื่อมทางทัศนคติ  ปัญหาสภาพจิตของวัยรุ่น  รวมทั้งปัญหาการหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ต  เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ  หรือทางทรัพย์สิน  อันเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมในขณะนี้

 นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับตนมองความรุนแรงของปัญหาบนโลกไซเบอร์ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 6 – 7 จาก 10  คือ ซึ่งทางแก้ปัญหามีด้วยกัน 4 วิธี  คือ 1.ใช้กฎหมายบังคับรุนแรง 2.ใช้เทคโนโลยี การปิดบล็อกเว็บไซต์   ซึ่งทั้งสองวิธีการดังกล่าวไม่ได้แก้ปัญหา ดังนั้น ควรเน้นวิธีที่  3. self regulation การควบคุมโดยให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง สร้าง code of conduct (ประมวลจริยธรรม) สร้างขึ้นมา เพื่อกำหนด social sanction เพื่อให้สะท้อนกลับสู่ผู้กระทำความผิด และ 4.ต้องแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 “พฤติกรรมล่าแม่มดบนโลกไซเบอร์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย  เป็นการละเมิดสิทธิ์  ผิด พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ซึ่งเป็นโทษที่ยอมความไมได้  มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท  ผู้ที่ฟอร์เวิร์ดส่งต่อและเจ้าของเว็บก็มีความผิดในฐานะเป็นตัวการร่วม ส่วนคนที่กดไลท์ กดแชร์ธรรมดา  ถ้าไม่ไปเติมความคิดเห็นก็อาจถือว่าเป็นการใช้สิทธิ์ทั่วไป  แต่คนส่วนใหญ่มักอดไม่ได้ที่จะเติมความเห็นเชิงลบลงไป  ซึ่งจะถือเป็นการร่วมกระทำความผิดไปด้วย” นายไพบูลย์กล่าว

 นายพงศ์สุข พิธีกรรายการแบไต๋ไฮเทคกล่าวว่า สำหรับตนให้คะแนนความรุนแรงของปัญหาที่ 6 เพราะยังไม่เห็นว่าการทะเลาะในอินเตอร์เน็ตแล้วจะออกมาตบตีกันภายนอก แต่ก็พบว่ามีคลิปการตบตีกันรุนแรงและเห็นอีก 20 คน เอาแต่ถ่ายรูป ไม่คิดทำอะไรเลย  รวมทั้งการขาดการใช้เหตุผล  ใช้อารมย์ในการตัดสินใจมองปัญหา  และมีความอดทนน้อย  ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ถ้าเยาวชนในรุ่นนี้ในอีก 5 – 10 ปี เข้าสู่ระบบงาน  สู่อำนาจการกำหนดสังคม  ถ้ากระบวนการเรียนรู้ไม่ได้หลอมให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อสังคมได้แล้วจะเกิดปัญหารุนแรงขึ้นแน่นอน

 ขณะที่ พ.ต.ท.พญ.อัญชุลี กล่าวว่าคนไทยหลายๆ คนเชื่อคนง่าย ไม่ได้ใช้สติปัญญาพิจารณา แล้วมีอารมณ์ร่วมเยอะ ต้องคิดไว้เสมอเวลาโพสต์อะไรไป สิ่งเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ 20 ปี โปรดใช้วิจารณญาณก่อนจะทำอะไร อยากให้มีสติ อย่าตกเป็นเหยื่อ หรือ เป็นเครื่องมือของคนอื่น

 พ.ต.ท.พญ.อัญชุลี กล่าวในฐานะจิตแพทย์ว่า การหาแพะเป็นกลไกทางจิตของมนุษย์เพื่อโยนความผิดให้คนอื่น ทำให้ตัวเองสบายใจขึ้น ส่วนโซเชียลเน็ตเวิร์ค มีผลต่อชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่ น่าเป็นห่วงเด็กไทยจำนวนมากสูญเสียตัวตนให้แก่โซเชียลเน็ตเวิร์ค จนหลายคนลืมตัวตน ไม่ได้อยู่กับตัวเอง แต่ไปอยู่กับตัวตนใหม่ของตัวเองที่สร้างขึ้นในโซเชียลมีเน็ตเวิร์ค และหลายคนเกิดความเครียดเนื่องจากมีคนมาว่าตัวเองในเฟซบุค ไม่สบายใจ กลับเอามาคิดเป็นเดือนเป็นปี ไม่มีค่า บางคนถึงกับต้องปิดเฟซบุคตัวเอง ไปสร้างตัวตนใหม่เรื่อยๆ

 “เด็กยุคใหม่สูญเสียเวลาไปกับเรื่องดังกล่าวเยอะ เสียการเรียน และทำให้ทักษะการเข้าสังคมกับคนรอบข้างเสียไป ดังนั้น จึงต้องรู้จักแบ่งเวลา ต้องรู้ตัวตนที่เป็นเรา ต้องรู้จักเห็นคุณค่าตัวเอง เชื่อมั่นตัวเอง ต้องรู้จักภาคภูมิใจตัวตน ไม่ต้องใส่หน้ากาก แอบแฝง ต้องแบ่งเวลา ไม่เช่นนั้นกระทบตัวเรา คนรอบข้างและสิ่งอื่นๆ เรียนก็เรียน ทำงานให้เต็มที่ โซเชียลไว้เป็นช่วงเวลาพักผ่อน” พ.ต.ท.พญ.อัญชุลี กล่าว