posttoday

อุดมศึกษาเตะฝุ่นเพิ่ม8.33%

05 กันยายน 2555

ไตรมาส 2 คนว่างงานเพิ่ม 3.6 แสนคน ระดับอุดมศึกษามีสัดส่วนเตะฝุ่นมากที่สุด 42.2% เพิ่มจากไตรมาสก่อนถึง 8.33%

ไตรมาส 2 คนว่างงานเพิ่ม 3.6 แสนคน ระดับอุดมศึกษามีสัดส่วนเตะฝุ่นมากที่สุด 42.2% เพิ่มจากไตรมาสก่อนถึง 8.33%

อุดมศึกษาเตะฝุ่นเพิ่ม8.33%

สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยรายงานสถานการณ์และการเตือนภัยด้านแรงงานประจำไตรมาส 2 ว่า อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ 0.92% หรือ 3.6 แสนคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ซึ่งมีอัตราการว่างงานที่ 0.66% หรือ 2.6 แสนคน โดยระดับอุดมศึกษามีการว่างงานสูงสุดในสัดส่วน 42.2% ของผู้ว่างงานทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วถึง 8.33%

ขณะที่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีสัดส่วนว่างงานรองลงมา 23.38% มัธยมศึกษาตอนปลาย 13.68% ประถมศึกษา 13.44% ต่ำกว่าประถมศึกษา 6.26% ไม่มีการศึกษา ไม่ทราบ และอื่นๆ รวมกัน 1.04% โดยในกลุ่มการศึกษาระดับต่ำกว่าประถมลงไป มีอัตราการว่างงานลดลงจากไตรมาสก่อน 0.86%

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จบการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. และอนุปริญญา ยังเป็นกลุ่มที่มีโอกาสได้งานทำที่ตรงกับการศึกษา|มากที่สุด เนื่องจากมีจำนวนผู้สมัครงานน้อยกว่าตำแหน่งงานว่าง แบ่งเป็น 1.ระดับ ปวช. มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 52.47% อัตราการบรรจุงานต่อ|ผู้สมัครงานอยู่ที่ 89.39%

2.ระดับ ปวส. มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 75.98% อัตราการบรรจุงานต่อผู้สมัครงานอยู่ที่ 93.21% และ 3.ระดับอนุปริญญา มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 5.89% อัตราการบรรจุงานต่อผู้สมัคร 73.55% นอกจากนี้ อัตราการบรรจุงานต่อตำแหน่งงานว่างระดับ ปวช. ปวส. และอนุปริญญา ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ คือ 46.9% 70.82% และ 4.33% ตามลำดับ แสดงว่าคุณสมบัติของผู้สมัครงานยังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานนัก

ขณะที่การมีงานทำ ผู้จบระดับอุดมศึกษามีผู้สมัครงานมากกว่าตำแหน่งงานว่างประมาณ 2-4 เท่าตัว แบ่งเป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 207.35% สูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 197.78% และในส่วนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป มีอัตราการสมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 229.58% ลดลงจากไตรมาสแรก ซึ่งอยู่ที่ 380.9% นายจ้างมีโอกาสเลือกมากขึ้น และกำลังแรงงานเหล่านี้ได้รับการบรรจุงานเพียง 36-81%